หลังจาก Eduardo Paes นายกเทศมนตรีแห่ง Rio de Janeiro ประเทศบราซิลได้ตัดสินใจร่วมมือกับ Changpeng Zhao (CZ) ซีอีโอ Binance เพื่อให้การสนับสนุน Blockchain ไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ล่าสุด Chicão Bulhões รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ และนวัตกรรมก็ได้ออกมาแถลงการณ์ประกาศยืนยันกำหนดการปรับใช้กฎหมายภาษี Pro-crypto ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2023 ที่จะถึงนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งยังอนุมัติให้ประชาชนชาวบราซิลจ่ายภาษีด้วย Bitcoin (BTC) ได้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า CZ เองก็ได้ตัดสินใจที่จะจัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นที่นี่เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดูแลภาคส่วนดังกล่าวตามที่ได้รับมอบหมาย
Table of Contents
- Binance เตรียมดูแลการจ่ายภาษีด้วย Bitcoin ในบราซิล
- บราซิลเตรียมนำคริปโตไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
- สถานที่ราชการในสหรัฐเริ่มยอมรับการชำระค่าบริการด้วยคริปโต
- การคุมเข้มกฎหมายคริปโตยังคงดำเนินต่อไป
Binance เตรียมดูแลการจ่ายภาษีด้วย Bitcoin ในบราซิล
การเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ในบราซิลนั้นจะเริ่มต้นขึ้นที่เมือง Rio de Janeiro เป็นแห่งแรกเพื่อสร้างกระแสการยอมรับระบบชำระเงิน BTC ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการพัฒนาไปยังขั้นต่อไป ซึ่งหลังจากที่ CZ ได้ออกมาประกาศผ่านโพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาถึงการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกับนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Rio เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ Binance กลายเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่จะได้เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือการชำระค่าบริการต่าง ๆ ด้วยคริปโตนั่นเอง โดยทางหน่วยงานรัฐได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมผ่านคำแถลงการณ์ที่ระบุว่า
“ทางหน่วยงานรัฐได้ตัดสินใจว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการแปลงสินทรัพย์คริปโตให้กลายเป็นสินทรัพย์จริง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานราชการในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถรับเงินได้อย่างเต็มจำนวน”
ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานรัฐประจำเมืองหลวง Rio ยังได้วางแผนที่จะพัฒนานโยบายการกำกับดูแล Non-Fungible Token (NFT) ทั่วทั้งตลาด เช่น ศิลปะ, วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวอีกด้วย
บราซิลเตรียมนำคริปโตไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ในขณะเดียวกันทางด้าน Pedro Paulo เลขานุการชาวบราซิลก็ได้ยอมรับว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศ ณ ขณะนี้ก็คือการยอมรับการใช้คริปโตที่จะสามารถช่วยพัฒนาตลาดดิจิทัลในเมืองให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมได้ พร้อมกันนี้เขายังได้กล่าวว่า
“รัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของคริปโตผ่านการนำมาใช้ร่วมกับระบบชำระค่าภาษี เช่น ภาษีประเภท Imposto sobre a propriedade predial e territorial urbana (IPTU) และอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตพวกเราจะสามารถขยับขยายการใช้งานเข้าไปสู่บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้”
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งต่างก็เพ่งเล็งความเคลื่อนไหวในการพัฒนาโลกดิจิทัลของบราซิลอยู่ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียง Binance เท่านั้นที่ได้มีโอกาสเข้ามาดำเนินธุรกิจคริปโตร่วมกับบราซิล แต่ทว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Meta เองก็เคยยื่นขอจดทะเบียนการค้าต่อหน่วยงานรัฐในประเทศบราซิล เพื่อดำเนินการออกแบบ, พัฒนา และจัดเตรียมฮาร์ดแวร์ หรือ ซอฟต์แวร์สำหรับบริการที่เกี่ยวข้องกับคริปโตในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
สถานที่ราชการในสหรัฐเริ่มยอมรับการชำระค่าบริการด้วยคริปโต
สหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความตื่นตัวกับสินทรัพย์คริปโตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของกรุงนิวยอร์ก, ไมอามี และเท็กซัส ที่ได้เปิดตัวเป็นพื้นที่นำร่องในการนำคริปโตเข้ามาใช้พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาเองก็ได้เคยออกมาประกาศเสนอแผนงบประมาณประจำปี 2022 ถึง 2023 มูลค่ากว่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อรัฐบาลเพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบการให้บริการของสถานที่ราชการ ให้สามารถรับชำระค่าธรรมเนียมด้วยสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ผู้ว่าการรัฐฟลอริดายังได้เปิดเผยว่าเขาหวังที่จะทำให้รัฐนี้มีความเป็นมิตรต่อสินทรัพย์ดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัท และองค์กรต่าง ๆ ในการชำระค่าธรรมเนียมให้กับทางกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง รวมไปถึงการนำไปใช้ในด้านการค้า เพื่อดึงดูความสนใจจากนักธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในรัฐเติบโตขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณมูลค่ากว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อีก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทางหน่วยงานจะนำไปใช้ในการศึกษาค้นคว้าถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ในการนำมาใช้เพื่อเก็บรักษาข้อมูลทะเบียนรถยนต์, การคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำธุรกรรม และการตรวจสอบแนวโน้มการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ในอนาคตนั่นเอง
การคุมเข้มกฎหมายคริปโตยังคงดำเนินต่อไป
แม้ว่าในปัจจุบันหลากหลายประเทศจะเริ่มออกมาประกาศตัวยอมนำคริปโตเคอเรนซีเข้ามาใช้ภายในประเทศมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ทว่ายังคงมีบางประเทศที่กลับออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมเพื่อนำมาปรับใช้ในการกำกับดูแลเหล่าผู้ให้บริการ และนักลงทุนในตลาดดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่หลังจากทางรัสเซียได้ออกมาแสดงท่าทีนำคริปโตเข้ามาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์คว่ำบาตรจากทั่วโลก ก็ได้ส่งผลให้ทางรัฐบาลต้องออกนโยบายกำกับดูแลเพิ่มเติมให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และเริ่มเข้าไปมีบทบาทกำกับดูแลแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนรายใหญ่อย่าง Coinbase อีกด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว ล่าสุด ประเทศไทยของเราเองก็ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใช้บริการนำคริปโตมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน พร้อมทั้งออกมาแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการจะปกป้องผู้บริโภคจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ รวมไปถึงยังออกมาย้ำชัดว่าทางหน่วยงานไม่ได้มีเจตนาที่จะออกมาต่อต้านการนำคริปโตเข้ามาใช้ในการลงทุนแต่อย่างใด