รู้จัก 'El Salvador' จากประเทศแรกที่รับ Bitcoin สู่วิกฤตเศรษฐกิจขั้นโคม่า!
สรุปเหตุการณ์ 'El Salvador' ผ่านมา 1 ปี กับประเทศแรกที่รับ Bitcoin เป็นสกุลเงินตามกฎหมาย สู่ประเทศจ่อล้มละลาย หนี้ท่วมหัวคาดแตะ 95% ของ GDP!?
สรุปเหตุการณ์ 'El Salvador' ผ่านมา 1 ปี กับประเทศแรกที่รับ Bitcoin เป็นสกุลเงินตามกฎหมาย สู่ประเทศจ่อล้มละลาย หนี้ท่วมหัวคาดแตะ 95% ของ GDP!?
ถ้าหากติดตามข่าวสารคริปโตมาโดยตลอด ก็คงจะรู้จักกับ 'El salvador' ในฐานะประเทศแรกและประเทศเดียวของโลกที่รับ Bitcoin เป็น 'Legal tender' หรือ 'สกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย' ในระดับเดียวกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่าอะไร? หมายความว่าในทางทฤษฎีแล้วถ้าคุณนำ Bitcoin ไปซื้อลูกชิ้นในประเทศเอลซัลวาดอร์ ป้าขายลูกชิ้นจะไม่มีสิทธิ์ปฎิเสธการจ่ายด้วย Bitcoin ของคุณได้ เหมือนกับการใช้เงินบาทชำระสินค้าในประเทศไทยนั่นเอง
แต่นั่นก็แค่ในทางทฤษฎี ในทางปฎิบัติแล้วก็ไม่ได้เข้มงวดขนาดนั้น แต่ก็ยังมีนัยสำคัญอยู่ดีในการที่ภาครัฐบาลในระดับประเทศประเทศหนึ่ง ตัดสินใจยอมรับ Bitcoin ที่ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วคนยังมองเป็นแชร์ลูกโซ่อยู่เลย
ถามว่าทำไม เอลซัลวาดอร์ ถึงเลือกที่จะทำให้ Bitcoin เป็น Legal tender เพียงเพราะแค่กระแสช่วงนั้น หรือเพราะแค่รัฐบาลเป็นพวก Bitcoin Maximalist รึเปล่า? คำตอบก็คือ... เอ่อ ก็ปฎิเสธได้ไม่เต็มปากนะ เดี๋ยวจะอธิบายต่อว่าทำไม
พี่คิดอะไรอยู่?
โดยประธานาธิบดี 'Nayib Bukele' บุคคลสำคัญผู้ผู้อยู่เบื้องหลังในการทำให้ Movement นี้เกิดขึ้นจริง อธิบายถึงจุดประสงค์ว่าคือการ 'แก้ปัญหาเศรฐกิจ' ที่เอลซัลวาดอร์ กำลังเจอ แล้วปัญหาที่เอลซัลวาดอร์กำลังเจอคืออะไร จะใช้ Bitcoin แก้ยังไงได้บ้าง? มาดูเป็นข้อๆ กัน
1. ในปี 2020 สัดส่วน GDP ถึงกว่า 23% ของ เอลซัลวาดอร์ มาจากเงินที่ประชาชนออกไปทำงานนอกประเทศ และส่งเงินกลับมาหาครอบครัว ย้ำอีกครั้งว่านี่คือ 23% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนมหาศาลมากๆ ซ้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แล้วมันเกี่ยวยังไง? นึกภาพตาม ด้วยสัดส่วน GDP ขนาดนั้นที่มาจากประชาชนโอนเงินข้ามประเทศกลับมาที่เอลซัลวาดอร์ คนที่เสียประโยชน์ก็คือประชาชนเอง ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามประเทศที่ไม่ใช่น้อยๆ ให้กับสถาบันการเงินที่รวยอยู่แล้ว ในขณะที่ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ยังต้องอดอยาก ยอมห่างบ้านออกไปครึ่งโลกเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
ดังนั้น Bitcoin ที่แน่นอนว่ามันไร้พรมแดน จึงสามารถเข้ามาแก้ปัญหาในจุดนี้ได้อย่างพอดิบพอดี อ้างอิงจากเว็บไซต์ YCharts ในขณะนี้ Bitcoin มีค่าธรรมเนียม/ธุรกรรม อยู่ที่ 1.1 ดอลลาร์ หรือราว 40 บาทเท่านั้น แม้แต่ค่าธรรมเนียมสูงสุดในรอบปีที่ผ่านมายังอยู่แค่ราว 5 ดอลลาร์เท่านั้น นี่ยังไม่ได้พูดถึง Lightning network อีก
ทีนี้มาลองเทียบกับค่าธรรมเนียมธนาคารกัน จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารแต่ละประเทศต้นทางแหละ งั้นจะลองเอาอะไรที่ใกล้ตัวมาลองดูแล้วกัน
นี่คือบริการโอนเงินข้ามประเทศของธนาคารหนึ่ง สังเกตได้ว่าจะไม่ใช่ Wordwide แต่จำกัดปลายทางอยู่ที่ 12 ประเทศ และจำกัดสกุลเงินอยู่ที่ 4 สกุลเงินเท่านั้น ถ้านอกจากที่ระบุไว้ก็ต้องติดต่อธนาคารเป็นรายๆ ไป รวมไปถึงค่าธรรมเนียมก็อยู่ที่ถึง 399 บาทต่อธุรกรรม... แค่นี้ก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรต่อแล้ว
2. อีกอย่างคือโอนเงินข้ามประเทศมันช้า ย้อนกลับไปรูปด้านบนจะเห็นว่าถ้าจะโอนเงิน GBP, SGD, EUR ไปยังประเทศปลายทางที่กำหนด ยังอาจจะดีเลย์สูงสุดไปถึง 2 วัน หรือถ้าจะโอนดอลลาร์ไปอเมริกายังอาจกินเวลาถึง 5 วัน แล้วประเทศที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์นี้อีกละ?
แต่สำหรับ Bitcoin แล้วไม่ว่าจะโอนข้ามโลก โอนออกนอกโลก หรือโอนไปหาเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ ขอแค่มีเน็ต ก็ใช้เวลาเท่ากัน แม้ว่าคงจะทราบกันดีว่า Bitcoin มันก็ไม่ใช่บล็อกเชนที่เร็วอะไรเมื่อเทียบคู่แข่งอื่นๆ แต่มันก็เร็วพอที่จะใช้เวลาราว 10 นาที ถึงชั่วโมงกว่าๆ ในการทำธุรกรรมหนึ่งให้สำเร็จ ไม่ต้องนั่งรอถึงวันแน่นอน
3. ประชากรผู้ใหญ่ชาวเอลซัลวาดอร์กว่า 70% 'ไม่มีบัญชีธนาคาร' หรือที่เรียกกันว่าประชากร 'Unbanked' ซึ่งก็ปัญหาก็สืบเนื่องมาจากข้อก่อน คือเมื่อเสาหลักของครอบครัวออกไปทำงานนอกประเทศแล้วโอนเงินกลับมา คนในครอบครัวที่ไม่มีบัญชีธนาคารก็ต้องเดินทางไปยังธนาคาร ไปรับเงินสดเป็นปึกๆ แล้วก็เดินทางกลับบ้าน ไม่สามารถโอนเข้าบัญชีแล้วไปกดจากตู้ ATM อย่างที่เราทำกันได้
แน่นอนว่าปัญหานี้เพียงแค่ Bitcoin เพียวๆ คงจะช่วยอะไรไม่ได้ โชคดีที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์สนับสนุน Infrastructure ต่างๆ สำหรับ Bitcoin เต็มที่ ทำให้ประชากรทุกมุมประเทศสามารถเข้าถึง Bitcoin ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับบริการจากธนาคารอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม
และนี่คือปัญหาและทางออกที่ Bitcoin มอบให้หลักๆ สำหรับประเทศเอลซัลวาดอร์ มันฟังดูดีเลยใช่ไหมละ? แต่ผลลัพท์กลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด
El salvador + Bitcoin = พัง
ไม่นานหลังกฎหมาย Bitcoin บังคับใช้อย่างเป็นทางการ กระแสต่อต้านจากฝั่งประชาชนกลับร้อนระอุ ถึงขนาดมีการประท้วงใหญ่จากผู้ชุมนุมราว 1,000 คน หลายครั้ง ซ้ำยังเกิดเหตุจราจล มีการทำลาย, เผาตู้ ATM Bitcoin ที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐอีก
เขากำลังฉุดเราลงเหวกันหมด จากไอเดีย Bitcoin แย่ๆ ของเขาที่มันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเราแล้ว
หนึ่งในผู้ชุมนุมกล่าว - ตุลาคม 2021
นอกจากความวุ่นวายภายในประเทศที่เกิดจาก Bitcoin แล้ว แรงกดดันภายนอกก็ตึงเครียดไม่แพ้กัน โดยเฉพาะจากเจ้าหนี้รายใหญ่อย่าง IMF และสถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลกก็แสดงความไม่เห็นด้วย รวมถึงมีมาตรการตอบโต้การตัดสินใจของเอลซัลวาดอร์อย่างไม่อ้อมค้อม
เริ่มกันที่ IMF ก่อน โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา IMF ก็ได้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ขอให้ 'ยกเลิก' กฎหมายที่ให้ Bitcoin เป็น Legal tender ซะ โดยมองว่าเป็นความเสี่ยงอย่างสูงสำหรับความมั่นคงทางการเงินภายในประเทศ และก็เพื่อปกป้องประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์อีกด้วย
ทางด้านของ Fitch Ratings สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับท็อปของโลกก็ตัดสินใจลดอันดับประเทศเอลซัลวาดอร์ลงมาเหลือ CCC จาก B- ไม่นานก่อนกำหนดการเปิดตัว 'พันธบัตร Bitcoin' ที่มีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนสร้าง 'บิตคอยน์ซิตี้' ที่จะใช้พลังงานภูเขาไฟเป็นแหล่งพลังงานหลักในการทำเหมือง Bitcoin!?
แน่นอนเมื่อมีกระแสต่อต้านมากมายขนาดนี้ ทั้งจากภายในและภายนอกที่ทวีความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ประธานาธิบดี Nayib Bukele จึงตัดสินใจที่จะ... ที่จะ... ซื้อ Bitcoin เพิ่ม พร้อมทวิตเชียร์ Bitcoin รัวๆ
ผมจะซื้อ คุณจะทำไม?
ใช่แล้ว ไม่มีอะไรหยุด Nayib Bukele คนนี้ได้ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2021 ปธน. Nayib ก็ประกาศเข้าซื้อ Bitcoin เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอลซัลวาดอร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น, ใครต่อต้าน, ใครไม่เห็นด้วย, ราคาจะขึ้นลงอย่างไรก็ยังคงเข้าซื้ออยู่ตลอด
แล้วที่ทราบได้ว่าเอลซัลวาดอร์มีการเข้าซื้อ Bitcoin ก็ไม่ใช่จากอะไร แต่ก็เป็นจากทวีตของปธน. Nayib เอง ที่คอยประกาศอยู่เสมอว่ามีการเข้าซื้อเมื่อไร เป็นจำนวนกี่ BTC แล้วอวย Bitcoin ว่าอะไรหลังการซื้อครั้งนั้นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Buybitcoinworldwide ในขณะนี้ประเทศเอลซัลวาดอร์ถือครอง Bitcoin อยู่ที่ 2,381 BTC รวมเป็นมูลค่าอยู่ที่ 45,715,200 ดอลลาร์ หรือราว 1.66 พันล้านบาท ย้ำว่านี่เป็นมูลค่าปัจจุบันที่ดิ่งลงมาพร้อมราคา Bitcoin แล้ว ซึ่งต้นทุนที่เอลซัลวาดอร์ลงทุนไปกับการซื้อเหรียญ Bitcoin อยู่ถึงราว 100 ล้านดอลลาร์
เท่ากับขณะนี้เอลซัลวาดอร์มี Unrealized loss อยู่ที่ราว 64 ล้านดอลลาร์ หรือ -64.3%
อาจจะไม่เห็นภาพ ในขณะนี้ราคา Bitcoin อยู่ที่ 19,200 ดอลลาร์ ดิ่งลงมาแล้วราว -71% จาก All-time high ที่ 69,000 ดอลลาร์เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และดิ่งลงมาจากเริ่มต้นปี 2022 ที่ราว 47,000 อยู่ที่ราว -60%
โดยในปี 2021 เอลซัลวาดอร์ซื้อ Bitcoin เข้าประเทศรวมเป็นจำนวน 1,391 BTC นั่นก็จะเท่ากับว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2021 ในขณะนั้นเอลซัลวาดอร์ถือ Bitcoin อยู่เป็นมูลค่า 65,377,000 ดอลลาร์ ...มากกว่ามูลค่าปัจจุบันซะอีก
เท่านี้คงจะเห็นภาพกันแล้วว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของเอลซัลวาดอร์ ในระยะสั้นถือว่า 'พลาด' อย่างมหันต์ ทั้งจากราคาทิ้งดิ่ง เข้าสู่ Crypto Winter อย่างเป็นทางการและไม่รู้ว่าตลาดจะกลับมาเมื่อไร รวมไปถึงกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งจากประชาชนในประเทศ และจากสถาบันยักษ์ใหญ่ต่างๆ ต่างประเทศ
นอกจากปัจจัยเรื่อง Bitcoin แล้ว หนี้สาธารณะของเอลซัลวาดอร์ก็เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน...
คาดหนี้แตะ 95% ของ GDP
จากข้อมูลของ IMF ปี 2020 ที่ผ่านมา เอลซัลวาดอร์มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ '85% ของ GDP' พร้อมกับกราฟขาขึ้นต่อเนื่อง ที่ซ้ำยังดูรุนแรงขึ้นไม่มีท่าทีจะลดน้อยลง และยังคาดการณ์ว่าอาจจะสูงถึง 95% ของ GDP ภายในปี 4 ปีนี้
ทำให้ยิ่งเกิดเป็นข้อครหากับทางฝั่งรัฐบาลและปธน. Nayib ว่าแทนที่จะเอาเงินไปใช้แก้ไขปัญหาในประเทศอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเศรษฐกิจ แม้แต่ปัญอย่างความยากจน ปัญหาความรุนแรง ฯลฯ ก็ยังคงหนักหน่วงอยู่
แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือเอาไปถลุงกับ Bitcoin ที่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไร ซ้ำยังทำให้อะไรๆ แย่ลงไปอีก นี่ยังไม่ได้พูดถึงงบประมาณทั้งหมดอย่างการสร้าง Infrastructure เพื่อรองรับกฎหมายใหม่ซึ่งคงไม่ใช่น้อยๆ แน่นอน
Nayib เริ่มรู้ตัว
ทางด้านปธน. Nayib ก็ดูเหมือนจะเริ่มตระหนักแล้วว่าสิ่งที่กำลังทำมันไม่เวิร์ค ไม่นานที่ผ่านมาเขาก็ทวิตข้อความอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการระบุว่าได้มีการร้องขอไปยังรัฐสภาเอลซัลวาดอร์เพื่อกู้ยืมเงิน และขอซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลกลับคืนในราคาตลาดไม่ว่าจะเท่าไรก็ตาม หวังรักษาเสรียรภาพเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาดีขึ้นบ้าง
ซึ่งทางสภาก็ได้อนุมัติทั้ง 2 ข้อเรียกร้อง โดยเป็นการอนุญาตให้ใช้เงิน 360 ล้านดอลลาร์จาก IMF เพื่อมาซื้อพันธบัตรกลับคืน และอีก 200 ล้านดอลลาร์จาก Central American Bank for Economic Integration (BCIE) เป็นการเพิ่มหนี้เข้าไปอีก 2 ก้อน
ผ่านมาแล้ว 1 ปี กับกฎหมาย Bitcoin ของประเทศเอลซัลวาดอร์ Movement ครั้งใหญ่สะเทือนวงการคริปโตทั่วโลก สร้างความหวังให้กับชาว Bitcoin ว่าหรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่แสนสดใสในการนำเอา Bitcoin มาใช้งานในสเกลระดับประเทศประเทศหนึ่ง พร้อมสายตาจากทั่วโลกที่จับตามองว่าผลลัพท์จะเป็นอย่างไร จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศอื่นๆ เริ่มนำใช้ Bitcoin ตามมาหรือไม่
แน่นอนว่าขณะนี้วิกฤตของเอลซัลวาดอร์ยังไม่จบ ราคา Bitcoin ก็ยังไม่มีท่าทีดีขึ้น พร้อมกับปัญหาภายในอื่นๆ ของเอลซัลวาดอร์ก็ยังไม่น่าจะคลี่คลายเร็วๆ นี้ สุดท้ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เอลซัลวาดอร์จะรอดไปได้หรือไม่ และสุดท้ายแล้ว Bitcoin ที่ถืออยู่เนี่ย จะทำยังไงกับมัน ก็คงต้องมาติดตามกันต่อไป