Neon ตลาดซื้อขายผลงาน Non-Fungible Token (NFT) บนเครือข่าย Solana เปิดตัวตู้กด NFT เครื่องแรกในย่านการเงินทางตอนใต้ของแมนแฮตตัน กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จะช่วยให้ศิลปินพัฒนาความสัมพันธ์ และสร้างรายได้จากบรรดาแฟนคลับได้ง่ายขึ้น
Table of Contents
- ไอเดียการสร้างตู้กด NFT เครื่องแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- การใช้งานตู้กด NFT
- NFT ATM จะทำหน้าที่เหมือนกล่องสุ่ม
- ยอดขาย NFT ยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไอเดียการสร้างตู้กด NFT เครื่องแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
Jordan Birnholtz ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานฝ่ายการตลาดแห่ง Neon ได้ออกมาเปิดเผยถึงที่มาของไอเดียการสร้างตู้กด NFT หรือ NFT ATM เครื่องแรก ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เขา และ Kyle Zappitell ซีอีโอ และหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งเป็นอดีตวิศวกรเกมมือถือจากค่าย Xbox ที่มีความหลงใหลเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อสร้างความสนุก และประสบการณ์การเข้าถึงรูปแบบใหม่ ซึ่งกำลังทานอาหารกลางวัน และร่วมหารือเกี่ยวกับ NFT ATM ร่วมกับ Drew Levine เด็กฝึกงานของบริษัทในช่วงฤดูใบไม่ร่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Birnholtz ระบุถึงสาเหตุที่เลือกดำเนินการโปรเจกต์ดังกล่าวบนเครือข่าย Solana Blockchain ด้วยความต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับตลาดขององค์กร เนื่องจากผลงานเหล่านี้มีราคาไม่แพงเท่าไรนัก
“พวกเราคิดว่า Solana คือ Chain ที่ดีที่สุดที่จะสร้างโปรเจกต์นี้ เนื่องจากมันมีราคาที่ไม่แพง และยังเปิดโอกาสครั้งใหญ่ในการเพิ่มจำนวนศิลปิน และยังไม่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย”
นอกจากนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งรายนี้ยังได้เผยว่าบริษัทกำลังวางแผนที่จะดึงศิลปินจำนวนมากเข้ามายังแพลตฟอร์ม และติดตั้งตู้ NFT ATM ให้มากขึ้นตามเมืองต่าง ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาความสัมพันธ์ และหารายได้จากแฟนคลับผ่านวิธีการใหม่ที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม
การใช้งานตู้กด NFT
แม้ว่าหน้าตาของตู้กด NFT เครื่องนี้จะไม่ได้มีความแปลกใหม่เท่าไรนัก รวมไปถึงการทำงานยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับตู้ ATM เก่า ๆ ที่เราเคยใช้กัน แต่ทว่ามันสามารถที่จะสร้าง QR code ที่แนบมาพร้อมกับสลิปชำระเงินที่แสดงให้เห็นถึงราคาของผลงานชิ้นต่าง ๆ นับตั้งแต่ 5.99 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึง 420.69 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว โดยผู้ใช้งานสามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือ บัตรเดบัติของพวกเขาเพื่อซื้อกล่องที่บรรจุ Code ลับที่ใช้ในการแลกรับผลงานศิลปะได้ ซึ่งหลังจากที่ผู้ซื้อได้ดำเนินการสแกน QR code เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็จะสามารถเข้าชมผลงานศิลปะชิ้นใหม่บน Smartphone, โน้ตบุ๊ก หรือ แท็บเล็ตของพวกเขาได้ในทันที

NFT ATM จะทำหน้าที่เหมือนกล่องสุ่ม
อย่างไรก็ตาม ตู้กด NFT เครื่องนี้จะทำหน้าที่เหมือนกับกล่องสุ่มยอดฮิตที่ทุกคนรู้จักกันดี ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ตัดสินใจซื้อผลงานเหล่านี้ไปจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาได้รับผลงานชิ้นไหนมา
ทั้งนี้หนึ่งผู้ใช้งานที่ได้มีโอกาสเข้าไปทดลองซื้อผลงานผ่านตู้กด NFT ได้ออกมาเผยแพร่ประสบการณ์ของเขาผ่านบัญชีทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า Drifter1117 พร้อมทั้งอธิบายถึงความประทับใจจากการได้ทดลองใช้บริการอีกด้วย
ยอดขาย NFT ยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าปัจจุบันตลาดคริปโตจะเริ่มได้รับความนิยมลดลง แต่ทว่ายอดขาย NFT นั้นยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ว่าปริมาณการซื้อขาย NFT ได้สร้างรายได้มูลค่ากว่า 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2021 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากประเทศจีนที่พบความสนใจในกลุ่มสินทรัพย์ประเภทนี้ และประเภทอื่น ๆ นอกจากคริปโตเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในตลาดการประมูลผลงาน NFT เองก็ยังได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากตลาดอย่างมากไม่แพ้กัน โดยก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินชื่อขององค์กรบางแห่ง เช่น Orica หรือ Giving Block เป็นต้น ที่ได้มีการจัดตั้งการประมูลผลงานศิลปะดิจิทัล เพื่อนำรายได้เข้าช่วยเหลือผู้ยากไร หรือ ทีมแพทย์แนวหน้าในช่วงวิกฤตต่าง ๆ ที่ผ่านมา แต่ทว่า หลังจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมยูเครนได้เริ่มปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นั้น ก็เรียกได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นชนวนสำคัญที่ช่วยทำให้ตลาด NFT เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการที่ผู้ใช้คริปโตทั่วโลกหันมาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ประเภทนี้เพื่อระดมทุนช่วยเหลือกองกำลังทหาร และประชาชนชาวยูเครนกันเป็นจำนวนมาก