ทำความรู้จัก Bitcoin คืออะไร? คริปโต อนาคตใหม่ ของโลกแห่งการเงิน

สกุลเงินดิจิทัลที่คนรู้จักมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น "บิทคอยน์" ทำความรู้จัก Bitcoin คืออะไร? ใครคือผู้สร้าง? ใช้ทำอะไร? มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร? ศึกษาได้ที่นี่

ในปัจจุบัน โลกได้ทะยานสู่ความมีเสรีภาพทางการเงิน โดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ผลักดันให้ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ กลายเป็นอนาคตใหม่ของการเงินโลก และผู้คนต่างก็หันมาให้ความสนใจกับสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency กันมากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสใหม่ในอนาคตที่เราอาจไม่ต้องพกเงินสด และทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงินเลย ดังนั้นสกุลเงินดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเราพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลที่คนรู้จักกันมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น Bitcoin ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก Bitcoin คืออะไร? ใครคือผู้สร้างบิทคอยน์? ใช้ทำอะไร? มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร? หาคำตอบได้ในบทความนี้

Bitcoin คือ อะไร?

Bitcoin หรือบิทคอยน์ คือ เหรียญ ๆ หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล เป็นเหรียญคริปโตที่ใช้ชื่อย่อว่า BTC ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2009 เพื่อทำหน้าที่ในการใช้จ่ายซื้อขายสินค้าเหมือนกับสกุลเงินเฟียตอื่น ๆ เช่น เงินดอลลาร์ เงินเยน เงินไทยบาท ฯลฯ เพียงแต่ว่าสกุลเงินดิจิทัลนี้เป็นเพียงแค่นามธรรม ไม่มีรูปธรรมให้จับต้องได้เหมือนสกุลเงินเฟียตทั่วไป เราจึงมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลสินทรัพย์โดยเฉพาะ เช่น Wallet ประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

Bitcoin สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ใช้หลักการแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) เพื่อให้ธุรกรรมมีความโปร่งใส ไม่ถูกกำกับ หรือควบคุมจากบุคคลที่ 3 ใด ๆ เช่น รัฐบาล หรือสถาบันการเงิน จึงมีความปลอดภัยสูง สามารถใช้งานได้อย่างอิสระ รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า

นอกจากบิทคอยน์จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลตั้งต้นแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดของสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ อย่าง Alternative Coin หรือ Altcoin นับหมื่นเหรียญ เช่น Ethereum (ETH), Bitcoin Cash (BCH), Cardano (ADA), Tezos (XTZ), Uniswap (UNI), PancakeSwap (CAKE) เป็นต้น

ใคร คือ ผู้สร้าง Bitcoin?

Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาโดยนายซาโตชิ นากาโมโตะ โดยออกแบบให้มีซัพพลายแบบจำกัด คือ มีเพียงแค่ 21 ล้านเหรียญให้หมุนเวียนในระบบเท่านั้น

Satoshi Nakamoto นามแฝงของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลลึกลับที่ปรากฏตัวขึ้นในปี 2008 ซึ่งชาวคริปโตเชื่อกันว่า บุคคลนี้เป็นผู้สร้างบิทคอยน์ขึ้นมา และมีการเผยแพร่ White Paper สู่สาธารณะ โดยใช้ชื่อเอกสารว่า Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System แสดงถึงรายละเอียดของนวัตกรรมแบบ P2P (Peer-to-Peer) ซึ่งเป็นธุรกรรมบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความเป็น Decentralized สูงนั่นเอง

หลังจากนั้นไม่ถึงปี ช่วงเดือนมกราคม ปี 2009 หลังจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ Subprime Crisis เกิดขึ้นได้ไม่นาน ทำให้ธนาคารหลายแห่งล้มละลาย บิทคอยน์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการขุด Bitcoin บนบล็อกเชนแรก โดยให้รางวัล (Reward) แก่เหล่านักขุด (Miners) ที่ใช้คอมพิวเตอร์กำลังสูงในการแก้สมการด้วยอัลกอริทึม จึงได้รับรางวัลเป็นบิทคอยน์จำนวนครึ่งหนึ่ง (ก่อนการ Halving ได้รับ 50 BTC, หลังจาก Halving ครั้งที่ 1 ในปี 2012 ได้รับ 25 BTC, หลังจาก Halving ครั้งที่ 2 ในปี 2016 ได้รับ 12.5 BTC และหลังจาก Halving ครั้งล่าสุดในปี 2020 ได้รับ 6.25 BTC ตามลำดับ โดย Halving ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2024)

รูปปั้น Satoshi Nakamoto ผู้สร้าง Bitcoin ในประเทศบูดาเปสต์ 
รูปปั้น Satoshi Nakamoto ผู้สร้าง Bitcoin ในประเทศบูดาเปสต์ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครที่ทราบว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ บุคคลผู้ลึกลับคนนี้นั้นคือใคร?

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) คืออะไร?

เทคโนโลยีบล็อกเชน คือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็น “Decentralized” หรือมีการกระจายอำนาจ โดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลางใด ๆ มีลักษณะการเก็บข้อมูลเป็นบล็อก (Block) ที่ประกอบด้วย

  1. ข้อมูล (Data) เช่น ผู้รับ วันเวลาที่ได้รับ จำนวนเงิน เป็นต้น
  2. ค่าแฮช (Hash) คือ ค่าที่ได้จากการเข้ารหัสของบล็อก เปรียบเสมือนรอยนิ้วมือ แต่ถ้าข้อมูลในบล็อกมีการเปลี่ยนแปลง ค่า Hash ก็จะถูกเปลี่ยนไปด้วย
  3. ค่าแฮชของบล็อกก่อนหน้า (Hash of previous block)

เมื่อบล็อก (Block) ถูกสร้างขึ้น และต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นสายโซ่ (Chain) จึงเรียกรวมกันว่า Blockchain โดยข้อมูลที่ถูกทำการบันทึกไว้จะไม่สามารถทำการลบ แก้ไข ดัดแปลง หรือทำซ้ำได้ 

บล็อกเชน (Blockchain) มีเอกลักษณ์อย่างไร?

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีความโปร่งใส และปลอดภัย เนื่องจากระบบการเก็บข้อมูลที่เป็นกลาง กระจายให้ผู้ตรวจสอบธุรกรรมหลายคนได้ทำการยืนยันข้อมูล และตรวจสอบ โดยที่ไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น หากมีการแก้ไขเกิดขึ้น ผู้ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดก็จะทราบโดยทันที เพราะทุกบล็อกมีการเชื่อมต่อกัน หากบล็อกใดบล็อกหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องแก้ไขทุกบล็อกทั้งหมดในระบบด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบล็อกเชนจึงเป็นแบบกระจายอำนาจ (Decentralized) ที่มีความโปร่งใส และปลอดภัยมากกว่า และยากต่อการแฮก การปลอมแปลง การแก้ไข หรือการทำซ้ำ นอกจากนี้ยังทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าด้วย

กระบวนการทำงานของบล็อกเชน ภาพจาก Money
กระบวนการทำงานของบล็อกเชน ภาพจาก Money

การทำงานแบบกระจายอำนาจ (Decentralized) เป็นการพัฒนาให้ระบบการเงินมีความเป็นกลาง และไม่มีผู้ใดเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อปิดช่องโหว่ของปัญหาที่พบจากระบบการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized) ด้านต่าง ๆ ได้แก่

  1. ด้านความปลอดภัย สามารถเกิดกรณีสินทรัพย์สูญหายจากบัญชีได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการถูกแฮก การปลอมแปลงเอกสาร หรือความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error)
  2. ด้านระยะเวลา เช่น กรณีการโอนเงินที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบค่อนข้างนานหลายวัน เนื่องจากระบบจะต้องนำข้อมูลส่งไปยังศูนย์กลาง จึงเกิดความล่าช้าในการตัดสินใจในขั้นตอนต่าง ๆ
  3. ด้านตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ สถาบันการเงิน หรือธนาคาร หากเกิดวิกฤต หรือล้มละลาย ก็เป็นการยากในการหาตัวผู้รับผิดชอบได้ 
  4. ด้านค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากจะต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตัวกลางทุกครั้ง

บล็อกเชน (Blockchain) เกี่ยวข้องกับ บิทคอยน์ (Bitcoin) อย่างไร? 

บล็อกเชน (Blockchain) และบิทคอยน์ (Bitcoin) ไม่ใช่สิ่งเดียวกันแต่มีความสัมพันธ์กัน นั่นคือ บล็อกเชนเป็นระบบที่อยู่เบื้องหลังระบบการทำงานของบิทคอยน์ ซึ่งเป็นระบบการทำงานแบบกระจายอำนาจ  (Decentralized) โดยจะมีผู้ตรวจสอบการทำธุรกรรมจากการแก้สมการด้วยระบบ Algorithm ที่ชื่อว่า แฮช SHA-256 ของคอมพิวเตอร์ที่มีแรงขุดมาก หรือที่เราเรียกว่า การขุดบิทคอยน์ (Mining) นั่นเอง

การขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) คือ อะไร?

การ Mining หรือการขุดบิทคอยน์ คือ การที่ผู้ใช้งานยืนยันการทำธุรกรรมร่วมกัน โดยผู้ที่ทำการขุด (Miner) ใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ เช่น ชิป ASICs (Application Specific Integrated Circuits), การ์ดจอ, โปรแกรมที่ใช้ขุด, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งกำลังไฟฟ้า และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อแก้สมการทางคณิตศาสตร์ในการตรวจสอบ และยืนยันการทำธุรกรรม โดยจะได้รับรางวัลตอบแทน (Rewards) เป็น Bitcoin จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการ Proof of Work โปรโตคอลที่จะช่วยยืนยันว่าการทำธุรกรรมทางดิจิทัลนั้นถูกต้อง

หมดเวลาขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) หรือยัง?

บิทคอยน์ถูกออกแบบให้มีการแบ่งครึ่ง (Halving) ที่เรียกว่า Bitcoin Halving คือ เหตุการณ์การลดปริมาณรางวัลที่ให้ Reward แก่นักขุดลงมาครึ่งหนึ่งของบล็อก ซึ่งก่อนการ Halving นักขุดจะได้รับ 50 BTC และลดลงมาครึ่งหนึ่งเรื่อย ๆ

เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นโดยประมาณทุก ๆ 4 ปี ปัจจุบันเกิดการ Halving มาแล้ว 3 ครั้ง (ส่วน Halving Bitcoin ครั้งที่ 4 ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2024 นักขุดจะได้รับ 3.125 BTC)

  1. Halving ครั้งที่ 1 ในปี 2012 นักขุดได้รับ 25 BTC
  2. Halving ครั้งที่ 2 ในปี 2016 นักขุดได้รับ 12.5 BTC
  3. Halving ครั้งที่ 3 ในปี 2020 นักขุดได้รับ 6.25 BTC
กราฟเหตุการณ์ Bitcoin Halving ภาพจาก Cointelegraph
กราฟเหตุการณ์ Bitcoin Halving ภาพจาก Cointelegraph

มูลค่าของ Bitcoin มาจากไหน?

บิทคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างจำกัด คือ มีเพียงแค่ 21 ล้านเหรียญให้หมุนเวียนในระบบเท่านั้น ในปี 2022 Bitcoin ถูกขุดไปแล้วมากกว่า 90% หรือประมาณ 19 ล้านเหรียญ ตามคาดการณ์แล้ว ปี 2140 บิทคอยน์จะถูกขุดขึ้นมาครบทั้งหมด

หากพูดตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ในขณะนี้ อุปสงค์ (Demand) มีมากกว่าอุปทาน (Supply) จึงทำให้บิทคอยน์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าด้วย เช่น การแข่งขัน ต้นทุนการผลิต ประกาศ กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เป็นต้น

โดยหน่วยของบิทคอยน์ เรียกย่อ ๆ ว่า BTC และสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยที่มีทศนิยมสูงสุดถึง 8 ตำแหน่ง เรียกว่า “satoshis” ได้อีกด้วย

Bitcoin สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้จริงหรือไม่?

บิทคอยน์สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจที่เปิดรับการซื้อขายโดยการใช้สกุลเงินดิจิทัลมากมาย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, E-Commerce, Super Market, เครื่องประดับ และนาฬิกา, ประกันภัย, วีดิโอเกม, Paypal ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันก็ยังคงไม่มีเครื่องมือใดที่สามารถทำการเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ได้ นอกจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือการเทรด (Trade) บนแพลตฟอร์ม Exchange เท่านั้น

ถึงแม้ว่าผู้ใช้งานจะสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์ม Exchange ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารกลาง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า สินทรัพย์ หรือเงินของเราได้ถูกทำการโอนเรียบร้อยแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เราจะเชื่อมั่นในระบบการเงินที่ไม่มีธนาคารกลางได้แค่ไหนกัน?

การดำเนินธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จะอยู่ภายใต้พื้นฐานเครือข่ายเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะมีกระบวนการฉันทมติ (Consensus Algorithm) แบบ POW (Proof of Work) หรือโหนดบนเครือข่ายการตรวจสอบการทำธุรกรรมว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้การดำเนินธุรกรรมมีความโปร่งใส และปลอดภัย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันพฤติกรรมที่อันตราย รวมทั้งการโจมตีจากการแฮกข้อมูลของเครือข่ายได้ ดังนั้นความน่าเชื่อถือจึงมีความใกล้เคียงกับการทำธุรกรรมผ่านธนาคารกลางนั่นเอง

บิทคอยน์ ภาพจาก CNBC
บิทคอยน์ ภาพจาก CNBC

ข้อดี-ข้อเสียของบิทคอยน์

ข้อดีของ Bitcoin

  1. เป็นอิสระ ไม่มีตัวกลางใด ๆ ในการควบคุม เจ้าของจึงมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง
  2. มีความโปร่งใส และปลอดภัยบนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถเรียกดูได้ตลอดเวลา มีความถูกต้อง ชัดเจน เรียลไทม์ และไม่สามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
  3. สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้ง่ายผ่านอินเตอร์เน็ต 
  4. สามารถทำธุรกรรมได้ โดยมีค่าธรรมเนียมที่น้อยกว่ามาก เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ตัวกลาง
  5. ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งาน จะมีเพียงเจ้าของ Wallet เท่านั้นที่ทราบว่าเราถือสินทรัพย์อยู่จำนวนเท่าไหร่

ข้อเสียของ Bitcoin

  1. ราคามีความผันผวนสูง ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้ โดยมีปัจจัยภายนอก เช่น ข่าวสาร การแข่งขัน ต้นทุนการผลิต ประกาศ กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เป็นต้น ส่งผลต่อราคาบิทคอยน์
  2. ไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ซึ่งทำให้ไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้งานทางกฎหมายได้อย่างครอบคลุม ในกรณีที่เกิดเหตุร้าย หรือสูญเสียทรัพย์สิน
  3.  ไม่สามารถทำธุรกรรมย้อนหลัง หรือเปลี่ยนแปลงได้ นั่นหมายถึงว่าการทำธุรกรรมจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนทำการยืนยัน หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นจะไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้
  4. ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานในบางประเทศ

สรุปเกี่ยวกับบิทคอยน์

แม้ว่าปัจจุบันตลาดคริปโตเคอเรนซี่ หรือสกุลเงินดิจิทัลยังมีความผันผวน และไม่เสถียรมากนัก แต่หากเทคโนโลยี Blockchain ได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพในการใช้งานที่มากเพียงพอแล้ว โอกาสที่โลกการเงินที่เราเคยรู้จักจะเปลี่ยนไป ดังนั้นการเตรียมความพร้อม และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล จะช่วยให้เราสามารถรับมือต่อระบบการเงินที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในอนาคตได้นั่นเอง

คำถามที่พบบ่อย (FAQs)

บิทคอยน์ (Bitcoin) ซื้ออะไรได้บ้าง?

สกุลเงินดิจิทัลก็เหมือนสกุลเงินโดยปกติทั่วไปที่ทำหน้าที่ซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจหลายแห่งที่ยอมรับการชำระค่าสินค้า และบริการด้วยสกุลเงินดิจิทัล เช่น Tesla, Pick n Pay Super Market, Gucci เป็นต้น

ลงทุนบิทคอยน์ ทำยังไง?

- เป็นผู้ขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ต้องมีสเปคสูง และมีแรงขุดสูง รวมทั้งอินเทอร์เน็ต สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และการใช้พลังงานแบบมหาศาลอีกด้วย นอกจากนี้ในปัจจุบันมีจำนวนนักขุดแบบกลุ่ม (Mining Pool) เพิ่มมากขึ้น ค่าความยากในการขุด (Difficulty Rate) หรือค่าดิฟก็สูงขึ้นด้วย โอกาสในการขุดบิทคอยน์ได้จึงมีน้อยลง และไม่เหมาะสำหรับกลุ่มนักขุดรายย่อยสักเท่าไหร่

- ทำการซื้อขายบิทคอยน์แบบเก็งกำไรผ่าน Exchange เช่น Coinbase, Binance, Bitkub, SatangPro, Bitazza, OKX, CoinEx ฯลฯ ซึ่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง คุณจึงสามารถทำการซื้อขายเพื่อสร้างกำไรได้แบบ Real Time

ถือ บิทคอยน์ เสี่ยงเกินไปไหม?

สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง ราคาบิทคอยน์จึงไม่มีความเสถียร แน่นอน ผู้ที่สนใจต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrencies ทุกประเภท จึงต้องทราบว่าสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนการลงทุนทุกครั้ง

นอกจากนี้ข่าวอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกิดขึ้นแบบไม่เว้นวัน ทำให้หลายคนกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้งาน แต่ก็หลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า Blockchain มีความปลอดภัยสูงไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถทำการลบ แก้ไข ดัดแปลง หรือทำซ้ำได้ ดังนั้นการแฮกที่เกิดขึ้น จึงมักเกิดกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากกว่าการแฮกบนบล็อกเชนโดยตรง ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก และมีโอกาสน้อยมาก ๆ