‘ยูโรโซน’ เข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ แล้ว 'คริปโต' จะได้รับผลกระทบอย่างไร?
หลังจาก ‘ยูโรโซน’ เข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) อย่างเป็นทางการ วันนี้ CryptoSiam จะชวนมาวิเคราะห์กันว่า 'ตลาดคริปโต' จะได้รับผลกระทบอย่างไร? จะบวกหรือลบหลังจากนี้?

หลังจาก ‘ยูโรโซน’ เข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) อย่างเป็นทางการ วันนี้ CryptoSiam จะชวนมาวิเคราะห์กันว่า 'ตลาดคริปโต' จะได้รับผลกระทบอย่างไร? จะบวกหรือลบหลังจากนี้?
หลังจากที่ ‘ยูโรโซน’ เข้าสู่สภาวะถดถอยหรือ Recession อย่างเป็นทางการ จากตัวเลข GDP เข้าสู่พื้นที่ติดลบด้วยตัวเลข -0.1% รายไตรมาส (QoQ) ในไตรมาสสุดท้ายปี 2022 และใตรมาสแรกปี 2023 ตามรายงานของ Eurostat เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังสูงขึ้น 1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า (QoQY) สำหรับไตรมาสแรก และยังถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2020 ที่ GDP มีสัดส่วนเป็นลบสูงกว่า 10%
ผลกระทบของ Recession ต่อตลาดคริปโต
แม้ว่าตัวเลขการถดถอยของ GDP ในขณะนี้ยังไม่สูงมาก และต้องจับตาดูสถานการณ์ในไตรมาสต่อๆ ไป แต่ก็เป็นที่น่ากังวลหลังจากตัวเลขเป็นลบถึง 2 ไตรมาสติด ซึ่งถ้าหากยังคงเป็นลบในอัตรานี้ต่อไปหรือในอัตราที่รวดเร็วกว่านี้ อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึง ‘คริปโต’ ได้
ปกติแล้วเมื่อเศรษฐกิจถดถอย แน่นอนว่าราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาดก็มักจะปรับตัวลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามตลาดคริปโตกลับดูเหมือนจะได้รับผลกระทบแตกต่างออกไป...
ที่เป็นอย่างนั้นคาดว่าเป็นผลจากธรรมชาติความ ‘กระจายศูนย์’ หรือ Decentralized ที่ทำให้คริปโตไม่ถูกผูกอยู่กับสินทรัพย์ในโลกการเงินเดิมมากนัก
Bitcoin = Safe haven ...จริงหรือ
รวมไปถึงการที่ Bitcoin (BTC) บ่อยครั้งที่ถูกมองเป็นสินทรัพย์ประเภท ‘Safe haven’ คล้ายกับทองคำ ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Bitcoin ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากกลุ่มคนที่มีความเชื่อมั่น
แต่ก็ต้องจำไว้ว่า ในบัจจุบันเหมือนว่ามีเพียง Bitcoin เท่านั้นที่ได้รับความเชื่อมั่นให้เป็น Safe haven ในบรรดาคริปโตเหรียญอื่นๆ รวมไปถึงก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งว่า Bitcoin นั้นเป็น Safe haven จริงๆ หรือไม่ด้วยซ้ำ
อ่านข่าวต่อ - Cathie Wood มอง 'คริปโต' ได้กลายเป็น Safe haven พร้อมทองคำ - ชี้ใครกัน 'เป็นตัวร้าย' วิกฤตธนาคาร - CryptoSiam
ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคริปโตจะปรับตัวเป็นบวกเท่านั้นหลังจากเศรษฐกิจเข้าสู่ Recession เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่าราคาตลาดของคริปโตเคยเป็นทั้งบวกอย่างมาก และลบอย่างมากเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤต
ตัวอย่างเช่นช่วง COVID-19 ระบาดใหม่ๆ พบว่าราคาคริปโตทั้งตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนสร้างสุดสูงสุดใหม่ในเดือน พ.ย. 2021 สวนทางกับดัชนีหุ้นอย่าง S&P 500 หรือ Nasdaq ที่ดิ่งเหวอย่างรุนแรง
แต่ทั้งนี้ก็พบว่าหลังจากผ่านช่วงการระบาดหนักของไวรัส ราคา Bitcoin กลับเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกับดัชนีหุ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง ก็จะไปในทางเดียวกันตลอด
รูปภาพ: Unusual Whales
รูปภาพ: Nasdaq
รวมถึงถ้าหากดูกราฟราคา Bitcoin ย้อนหลังในระดับ 10 ปี ก็จะพบว่าไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นกับเศรษฐกิจโลก จนถึงขณะนี้คริปโตก็ยังสามารถรักษารอบขาขึ้นและขาลงในทุกๆ 4 ปีไว้ได้เสมอ
โดยจะเข้าสู่ขาขึ้นครั้งใหญ่ในช่วงหลังจากเหตุการณ์ Bitcoin halving ที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี และหลังจากนั้น 2 ปีราคาก็จะเข้าสู่ขาลงครั้งใหญ่ ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำมาแล้วถึง 3 ครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง - วิเคราะห์กราฟ BTC ย้อนหลัง 10 ปี เรามาถึงจุดจบ 'ตลาดขาลง' แล้วหรือยัง? - CryptoSiam
บทสรุป
จึงค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าราคาคริปโตนั้น ‘อาจ’ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจบ้าง ถ้าหากเป็นวิกฤตใหญ่ในระดับโลกอย่างเช่นวิกฤต COVID-19
แต่ทั้งนี้ COVID-19 ก็เกิดในช่วงที่คริปโตควรจะอยู่ในขาขึ้นพอดี จึงก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนอีกว่าการที่คริปโตบวกขึ้นมามากขนาดนี้ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตมากน้อยแค่ไหน และคงชัดเจนมากกว่านี้หากในช่วง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ และ ‘วิกฤตซับไพรม์’ มี Bitcoin ให้เราดูกราฟอยู่
ดังนั้นถ้าหาก Recession ยังถูกควบคุมไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลกได้ และยังคงไว้ในอัตราเดิมเท่านี้และไม่รุนแรงมากขึ้น ราคา Bitcoin รวมถึงคริปโตอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจนเกิดเป็นแนวโน้ม และอาจจะยังคงไว้ซึ่งรอบขาขึ้น-ขาลงเดิมอยู่ ถ้าหากอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
อ้างอิง: CNN, The Guardian, BeInCrypto, Bankrate