เมืองหลวงของบราซิลจ่ายภาษีด้วย Bitcoin ได้แล้ว
นายกเทศมนตรีประจำเมือง Rio ในบราซิลอนุมัติให้ประชาชนจ่ายภาษีด้วย Bitcoin ได้แล้ว พร้อมดึง Binance เข้ามาให้บริการระบบชำระเงิน
นายกเทศมนตรีประจำเมือง Rio ในบราซิลอนุมัติให้ประชาชนจ่ายภาษีด้วย Bitcoin ได้แล้ว พร้อมดึง Binance เข้ามาให้บริการระบบชำระเงิน
หลังจาก Eduardo Paes นายกเทศมนตรีแห่ง Rio de Janeiro ประเทศบราซิลได้ตัดสินใจร่วมมือกับ Changpeng Zhao (CZ) ซีอีโอ Binance เพื่อให้การสนับสนุน Blockchain ไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ล่าสุด Chicão Bulhões รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ และนวัตกรรมก็ได้ออกมาแถลงการณ์ประกาศยืนยันกำหนดการปรับใช้กฎหมายภาษี Pro-crypto ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2023 ที่จะถึงนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งยังอนุมัติให้ประชาชนชาวบราซิลจ่ายภาษีด้วย Bitcoin (BTC) ได้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า CZ เองก็ได้ตัดสินใจที่จะจัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นที่นี่เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดูแลภาคส่วนดังกล่าวตามที่ได้รับมอบหมาย
Binance เตรียมดูแลการจ่ายภาษีด้วย Bitcoin ในบราซิล
การเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ในบราซิลนั้นจะเริ่มต้นขึ้นที่เมือง Rio de Janeiro เป็นแห่งแรกเพื่อสร้างกระแสการยอมรับระบบชำระเงิน BTC ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการพัฒนาไปยังขั้นต่อไป ซึ่งหลังจากที่ CZ ได้ออกมาประกาศผ่านโพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาถึงการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกับนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Rio เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ Binance กลายเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่จะได้เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือการชำระค่าบริการต่าง ๆ ด้วยคริปโตนั่นเอง โดยทางหน่วยงานรัฐได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมผ่านคำแถลงการณ์ที่ระบุว่า
“ทางหน่วยงานรัฐได้ตัดสินใจว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการแปลงสินทรัพย์คริปโตให้กลายเป็นสินทรัพย์จริง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานราชการในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถรับเงินได้อย่างเต็มจำนวน”
ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานรัฐประจำเมืองหลวง Rio ยังได้วางแผนที่จะพัฒนานโยบายการกำกับดูแล Non-Fungible Token (NFT) ทั่วทั้งตลาด เช่น ศิลปะ, วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวอีกด้วย
บราซิลเตรียมนำคริปโตไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ในขณะเดียวกันทางด้าน Pedro Paulo เลขานุการชาวบราซิลก็ได้ยอมรับว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศ ณ ขณะนี้ก็คือการยอมรับการใช้คริปโตที่จะสามารถช่วยพัฒนาตลาดดิจิทัลในเมืองให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมได้ พร้อมกันนี้เขายังได้กล่าวว่า
“รัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของคริปโตผ่านการนำมาใช้ร่วมกับระบบชำระค่าภาษี เช่น ภาษีประเภท Imposto sobre a propriedade predial e territorial urbana (IPTU) และอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตพวกเราจะสามารถขยับขยายการใช้งานเข้าไปสู่บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้”
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งต่างก็เพ่งเล็งความเคลื่อนไหวในการพัฒนาโลกดิจิทัลของบราซิลอยู่ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียง Binance เท่านั้นที่ได้มีโอกาสเข้ามาดำเนินธุรกิจคริปโตร่วมกับบราซิล แต่ทว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Meta เองก็เคยยื่นขอจดทะเบียนการค้าต่อหน่วยงานรัฐในประเทศบราซิล เพื่อดำเนินการออกแบบ, พัฒนา และจัดเตรียมฮาร์ดแวร์ หรือ ซอฟต์แวร์สำหรับบริการที่เกี่ยวข้องกับคริปโตในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
สถานที่ราชการในสหรัฐเริ่มยอมรับการชำระค่าบริการด้วยคริปโต
สหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความตื่นตัวกับสินทรัพย์คริปโตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของกรุงนิวยอร์ก, ไมอามี และเท็กซัส ที่ได้เปิดตัวเป็นพื้นที่นำร่องในการนำคริปโตเข้ามาใช้พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาเองก็ได้เคยออกมาประกาศเสนอแผนงบประมาณประจำปี 2022 ถึง 2023 มูลค่ากว่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อรัฐบาลเพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบการให้บริการของสถานที่ราชการ ให้สามารถรับชำระค่าธรรมเนียมด้วยสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin ได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ผู้ว่าการรัฐฟลอริดายังได้เปิดเผยว่าเขาหวังที่จะทำให้รัฐนี้มีความเป็นมิตรต่อสินทรัพย์ดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัท และองค์กรต่าง ๆ ในการชำระค่าธรรมเนียมให้กับทางกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง รวมไปถึงการนำไปใช้ในด้านการค้า เพื่อดึงดูความสนใจจากนักธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในรัฐเติบโตขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณมูลค่ากว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อีก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทางหน่วยงานจะนำไปใช้ในการศึกษาค้นคว้าถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ในการนำมาใช้เพื่อเก็บรักษาข้อมูลทะเบียนรถยนต์, การคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำธุรกรรม และการตรวจสอบแนวโน้มการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ในอนาคตนั่นเอง
การคุมเข้มกฎหมายคริปโตยังคงดำเนินต่อไป
แม้ว่าในปัจจุบันหลากหลายประเทศจะเริ่มออกมาประกาศตัวยอมนำคริปโตเคอเรนซีเข้ามาใช้ภายในประเทศมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ทว่ายังคงมีบางประเทศที่กลับออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมเพื่อนำมาปรับใช้ในการกำกับดูแลเหล่าผู้ให้บริการ และนักลงทุนในตลาดดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่หลังจากทางรัสเซียได้ออกมาแสดงท่าทีนำคริปโตเข้ามาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์คว่ำบาตรจากทั่วโลก ก็ได้ส่งผลให้ทางรัฐบาลต้องออกนโยบายกำกับดูแลเพิ่มเติมให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และเริ่มเข้าไปมีบทบาทกำกับดูแลแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนรายใหญ่อย่าง Coinbase อีกด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว ล่าสุด ประเทศไทยของเราเองก็ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใช้บริการนำคริปโตมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน พร้อมทั้งออกมาแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการจะปกป้องผู้บริโภคจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ รวมไปถึงยังออกมาย้ำชัดว่าทางหน่วยงานไม่ได้มีเจตนาที่จะออกมาต่อต้านการนำคริปโตเข้ามาใช้ในการลงทุนแต่อย่างใด