เหรียญสองด้าน: สถานการณ์ด้านคริปโตในอินเดียและสิงคโปร์
เปรียบเทียบและอัพเดทสถานการณ์ตลาดคริปโตของสองประเทศ ผ่านท่าทีของรัฐบาลที่ตรงกันข้ามกันอย่างมาก
เปรียบเทียบและอัพเดทสถานการณ์ตลาดคริปโตของสองประเทศ ผ่านท่าทีของรัฐบาลที่ตรงกันข้ามกันอย่างมาก
บทความนี้มุ่งที่จะนำเสนอสรุปสำหรับสถานการณ์และท่าทีของรัฐบาลจากสองประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งแสดงออกต่อการเข้ามามีบทบาทของสกุลเงินคริปโตที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นบทความต่อเนื่องในหัวข้อ “ท่าทีของรัฐบาลต่อสกุลเงินคริปโตในภูมิภาคเอเชีย” ที่ได้มีการกล่าวถึงประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและประเทศซึ่งเป็นหัวหอกด้านเทคโนโลยีอย่างประเทศเกาหลีใต้ไปก่อนแล้ว โดยครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบระหว่างสอ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียและในประเทศสิงคโปร์
ประเทศอินเดีย
ประเทศอินเดียนั้น ขึ้นชื่อในวงการคริปโตว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนรวมถึงภาคธุรกิจนั้นคาดเดาทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากภาครัฐฯได้ยากมาก เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศอินเดียรวมทั้งแนวคำพิพากษาของศาลภายในประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวนไม่ต่างจากตลาดคริปโต
ในช่วงปี 2018 นั้น หน่วยงานซึ่งมีอำนาจควบคุมการเงินของประเทศอินเดียอย่าง ธนาคารกลาง(Reserve Bank of India) นั้นได้ออกนโยบายห้ามภาคธุรกิจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสกุลเงินคริปโต ซึ่งหากฝ่าฝืนนั้นธนาคารสามารถมีคำสั่งไปยังธนาคารพาณิชย์ที่ธุรกิจนั้น ๆ มีบัญชีอยู่ให้มีการหยุดการเดินบัญชีชั่วคราวและให้ธนาคารพาณิชย์สามารถที่จะปฏิเสธการให้บริการแก่บริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโตได้อีกด้วย นอกจากนี้ในปี 2019 ยังได้มีการผ่านร่างกฎหมายกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามซื้อขายสกุลเงินคริปโตอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการบังคับใช้
อย่างไรก็ตามในช่วงมีนาคมของปีนี้ ศาลฎีกาของประเทศอินเดียได้มีการวินิจฉัยถึงความชอบธรรมของคำสั่งห้มธุรกิจดำเนินการเกี่ยวกับคริปโตที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ โดยท้ายที่สุดนั้นได้มีกรเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากขัดต่อหลักความได้สัดส่วนของอำนาจรัฐฯตามรัฐธรรมนูญของประเทศ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจด้านคริปโตภายในประเทศกลับมาคึกครื้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามทางฝั่งรัฐบาลของประเทศได้มีการพูดถึงการจำกัดการดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตภายในประเทศอีกครั้งผ่านการเตรียมร่างกฎหมายกำกับดูแลกิจกรรมทางด้านสกุลเงินคริปโตอีกครั้ง ซึ่งท่าทีของรัฐบาลอินเดียนั้นค่อนข้างที่จะเป็นการต่อต้านการใช้งานสกุลเงินคริปโตภายในประเทศมากกว่าการมองสกุลเงินคริปโตในฐานะเครื่องมืออย่างนึงที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นผู้คนในวงการคริปโตจึงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาดของประเทศอินเดียต่อไปนั่นเอง
ประเทศสิงคโปร์
ตรงข้ามกับท่าทีของรัฐบาลอินเดีย ประเทศสิงคโปร์นั้นมองภาพสกุลเงินคริปโตในแง่บวกมากกว่า โดยภาครัฐฯนั้นตื่นตัวกับการเข้ามามีบทบาทอย่างมากถึงขั้นที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมมือกับรัฐบาลในการเตรียมการร่างกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุดนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตภายในประเทศต้องเป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับบริการชำระเงินของประเทศโดยมีธนาคารกลางเป็นผู้กำกับดูแล และในรายละเอียดกรดำเนินการนั้นได้มีองค์กรทางด้านคริปโตของประเทศร่วมจัดทำแนวปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจในการดำเนินการตามกฎหมายอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว ทางฝั่งรัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ยังได้ไฟเขียวให้กับโครงการทางด้านคริปโตหลายโครงการ เช่นโครงการด้านระบบการชำระเงินด้วย Blockchain ในชื่อ Ubin ที่สามารถให้บริการได้หลายสกุลเงินและช่วยอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross-border payment) ได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลของประเทศสิงคโปร์นั้นจับทิศทางการเติบโตของตลาดคริปโตไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการเงินภายในประเทศ ต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียนั่นเอง