3 ปัญหา 'The Merge' เปิดทุกข้อกังขา ที่แม้แต่คุณ ก็อาจได้รับผลกระทบ!
ไม่ใช่แค่ข้อดี! เปิด 3 ข้อเสียที่เกิดขึ้นหลัง 'The Merge' การอัปเกรดครั้งประวัติศาสตร์ของ Ethereum พร้อมข้อกังขา, ช่องโหว่, ทฤษฎีสมคบคิด ฯลฯ ที่อาจเกิดขึ้น!
ไม่ใช่แค่ข้อดี! เปิด 3 ข้อเสียที่เกิดขึ้นหลัง 'The Merge' การอัปเกรดครั้งประวัติศาสตร์ของ Ethereum พร้อมข้อกังขา, ช่องโหว่, ทฤษฎีสมคบคิด ฯลฯ ที่อาจเกิดขึ้น!
ผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมงกับ 'The Merge' อัปเกรดครั้งสำคัญของ Ethereum ที่เป็นการยกระดับเครือข่ายให้ตอบสนองผู้ใช้งานมากขึ้น ตัดข้อเสียต่างๆ ที่ต้องเผชิญมาก่อนหน้าทิ้งไป พร้อมปูทางสู่การอัปเกรดครั้งถัดๆ ไปในอนาคต
โดยหลักๆ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงกลไกการยืนยันธุรกรรมหรือ Consensus Mechanism จากแบบ Proof-of-Work แบบเก่า สู่ Proof-of-Stake แบบใหม่ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชนไปอย่างสิ้นเชิง
จากก่อนหน้าที่ใช้ 'นักขุด' ที่ใช้พลังการประมวลผลจากฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ต่างๆ เช่นการ์ดจอ หรือเครื่อง ASIC ในการยืนยันธุรกรรม มาสู่การ 'Stake' หรือการฝากเหรียญเข้าไปในระบบ เพื่อเป็นการยืนยันธุรกรรมแทน
1. The Merge ทำให้ 'นักขุด' ขุดไม่ได้อีกต่อไป
แน่นอนที่ระบุไปข้างต้นว่าหลังจาก The Merge เกิดขึ้นแล้ว จะไม่สามารถใช้ฮาร์ดแวร์ขุดเหรียญได้อีกต่อไป ดังนั้นคนที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คือ 'นักขุด Ethereum' ที่ลงทุนซื้อเครื่องขุดราคาแสนแพงมาแล้ว ทางเลือกที่กลุ่มนักขุดเหล่านี้สามารถทำได้ก็มีแค่เลิกขุดไปเลย กับไปหาเหรียญอื่นๆ ขุดต่อ
'Vitalik Buterin' ผู้สร้าง Ethereum และผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของ The Merge ก็เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าใครยังอยากใช้ Proof-of-Work ก็ให้ไปใช้ Ethereum Classic (ETC) สิ แน่นอนว่าหลังจากนั้น Ethereum Classic ก็ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ราคาพุ่งทะยานแซงตลาดไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ไม่ใช่แค่ Ethereum Classic เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าเหรียญอื่นๆ ที่ยังทำงานแบบ Proof-of-Work อยู่จะได้รับผลพลอยได้ไปทั้งหมดโดยเฉพาะเหรียญที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่สูง อย่างก่อนหน้าที่การอัปเกรดจะเกิดขึ้นไม่นาน 'FIRO' ก็ราคาพุ่งทะยานไปแล้วกว่า 37% พร้อมกับ 'ปรมินทร์ อินโสม' ที่ระบุชัดเจนว่าได้รับผลพลอยได้มาจากการอัปเกรด Ethereum
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังแน่วแน่ใน Ethereum อยู่ และต้องการให้ Ethereum คงอยู่แบบเดิม จึงรวมตัวกันสร้าง 'Ethereum PoW' ขึ้นมา จะเรียกว่าสร้างก็ไม่ถูก กลุ่มคนเหล่านี้ (ที่คาดว่าจะประกอบด้วยนักขุดเสียส่วนใหญ่) เลือกที่จะไม่อัปเกรด 'Node' Ethereum ที่ตัวเองควบคุมอยู่ตามอัปเกรดใหญ่
ทำให้ Ethereum ถูกแตกออกเป็นสายใหม่ก็คือ 'Ethereum ที่ไปตาม The Merge' และ 'Ethereum ที่ไม่ไปตาม The Merge' ในชื่อ 'Ethereum PoW' ที่ต้องการรักษารากเหง้าเดิมในการเป็น Proof-of-Work ของ Ethereum ไว้ คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ Ethereum Classic ที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาของทีม Ethereum ในการจัดการกับ DAO Attack ในช่วงปี 2019
2. Decentralized น้อยลง
นอกจากปัญหาที่เหล่านักขุด Ethereum ตกงานแล้ว หลายคนก็ยังมองว่า Ethereum จะมีความเป็น 'Centralized' หรือ 'รวมศูนย์' มากขึ้น และความเป็น Decentralized ลดน้อยลง จากการที่ใครก็ได้สามารถเข้ามาเป็นนักขุด ไม่ว่าจะเครื่องขุดราคาถูก ฮาร์ดแวร์ไม่แรงก็สามารถขุดได้ (ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อะไรกลับไปเท่าไรก็ตาม)
แต่พอมาเป็น Proof-of-Stake ที่เป็นการฝากเหรียญเข้าไปในระบบ หรือ 'Stake' แทนการขุด กลับต้องใช้จำนวนเหรียญขั้นต่ำถึง 32 ETH (อ้างอิงจาก Cointelegraph) ในการเป็น Validator หรือผู้ตรวจสอบธุรกรรม (หรือนักขุดใน Proof-of-Stake นั่นเอง) ซึ่งในขณะนี้ราคา ETH อยู่ที่ 5.44 หมื่นบาท
เท่ากับว่าต้องมีเงินถึง 1.74 ล้านบาท ในการเข้ามามีส่วนร่วม เป็น Validator ของ Ethereum
จึงเป็นการปิดกันนักขุดรายเดิมหรือแม้แต่รายใหม่ที่ทุนไม่ถึงให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็น Validator ได้ เท่ากับว่าผู้ที่เป็น Validator ของ Ethereum ที่เป็นรายใหญ่จะมีสัดส่วนมากขึ้น และยังสามารถเพิ่มปริมาณการ Stake ได้ง่ายกว่าการเพิ่มฮาร์ดแวร์ จึงทำให้ผู้ที่เป็น Validator รายย่อยเสียเปรียบเพิ่มขึ้นไปอีกจากทุนที่จำกัด
และก็มีหลักฐานคาตา โดยหลังจากที่ The Merge เสร็จสิ้นไปแล้วไม่นาน ใน 1,000 Block แรกที่ได้รับการยืนยัน ถูกยืนยันโดย 2 Validator รายใหญ่เป็นสัดส่วนถึง 40% ของ 1,000 Block ดังกล่าว ซึ่งก็คือ Coinbase และ Lido นั่นเอง
ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @koeppelmann พร้อมกับทำโพลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันเหมาะสมหรือไม่?
โดยผลโพลในขณะนี้อยู่ในฝั่ง 'ไม่โอเค' 75.3% และฝั่ง 'ก็ปกติดีนี้' 24.7%
3. Security น้อยลง
ไม่ใช่แค่เรื่องการขุดเท่านั้นที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ แต่ในเรื่องของ 'ความปลอดภัย' หลายต่อหลายคนก็มองว่ายังน้อยลงอีกด้วยจากการเปลี่ยนมาเป็น Proof-of-Stake
แม่แต่ไม่นานมีนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญออกมาเปิดเผยถึงช่องโหว่ของ Ethereum หลัง The Merge ว่า ถ้าหาก Validator สามารถควบคุม 2 Block ติดต่อกันได้ จะสามารถใช้ช่องโหว่เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ระหว่าง 2 บล็อกดังกล่าวได้อย่างอิสระ
ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยโดย Cointelegraph โดยผู้เชื่ยวชาญที่ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ในขณะนี้ทำงานเป็นนักพัฒนาและนักวิจัยความปลอดภัยอยู่กับบล็อกเชน Layer-2 โปรเจกต์หนึ่ง
โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบบแบบ Proof-of-Stake เหล่า Validator จะได้รับการแจ้งล่วงหน้าว่าจะได้เข้าไปยืนยัน Block ไหนต่อไป ตรงกันข้ามกับระบบ Proof-of-Work ยิ่งทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถวางแผนการโจมตีได้ และอาจตามมาด้วยการปลอมแปลงข้อมูลในบล็อกเชน
อย่างไรก็ตามเขาก็ระบุเพิ่มเติมว่าในขณะที่ทีมงาน Ethereum ได้ทราบถึงช่องโหว่ดังกล่าวแล้ว และกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นปัญหาที่หินพอสมควร
นอกจากช่องโหว่นี้แล้ว อีกเรื่องก็ยังสืบเนื่องจากข้อก่อน โดยไม่ว่าจะเป็นบุคคล, บริษัท, องค์กร หรือใครก็ตามที่สามารถเข้ามา Stake จนมีสัดส่วนถึง 66% ของปริมาณเหรียญทั้งหมดที่ Stake อยู่ได้ จะสามารถทำให้การเขียนธุรกรรมเพิ่มเติมลงใน Ethereum ทำได้ยากขึ้น อ้างอิงจาก CoinDesk
คงไม่ต้องพูดถึงว่าใครจะสามารถขึ้นมาเป็น 66% ได้ เพราะคงเกิดขึ้นได้ยากมากสำหรับบล็อกเชนใหญ่ระดับ Ethereum อย่างไรก็ตาม ข่าวการคว่ำบาตร 'Tornado Cash' แพลตฟอร์มคริปโตสายเทาที่ทำงานอยู่บน Ethereum รวมไปถึงทีมนักพัฒนาที่ถูกจับกุมไปไม่นานมานี้ จึงมีทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า 'ภาครัฐ' อาจสามารถทำการอะไรได้หรือเปล่า
โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่อย่าง 'สหรัฐฯ' ที่อาจมีการสั่งให้ Validator ในสหรัฐอเมริการวมกันทำตามคำสั่งของรัฐบาล อย่างเช่นปิดกั้นแพลตฟอร์มที่มองว่าไม่ถูกกฎหมาย หรือปิดกั้นธุรกรรมที่เกี่ยวอาจข้องกับอาชญากรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็กลับมาสู่ความเป็น Centralized อยู่ดี ขัดกับสิ่งที่คริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชนควรจะเป็น
DISCLAIMER: การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง มุมมองและความคิดเห็นจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อในการให้ข้อมูลเท่านั้น และไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลทางการเงิน การลงทุน หรือคำแนะนำอื่น ๆ ใด นักลงทุนควรศึกษาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันและมีการควบคุมความเสี่ยงอยู่เสมอ