แผนทดลองใช้หยวนดิจิทัลอาจพังเพราะ COVID-19
หลังตรวจพบนักกีฬาติดเชื้อ COVID-19 ทางการจีนตัดสินใจจำกัดจำนวนผู้ชม ซึ่งอาจชะลอตัวแผนทดลองใช้หยวนดิจิลในการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งลงได้

หลังตรวจพบนักกีฬาติดเชื้อ COVID-19 ทางการจีนตัดสินใจจำกัดจำนวนผู้ชม ซึ่งอาจชะลอตัวแผนทดลองใช้หยวนดิจิลในการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งลงได้
สำนักข่าว CNN ได้ออกมารายงานในวันจันทร์ที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ระบุว่านักกีฬา, เจ้าหน้าที่ และนักข่าวจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่งราว 10,000 รายได้เข้ารับการกักตัวตามมาตรการ Bubble Quarantine และแยกตัวออกจากกลุ่มประชากรชาวจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค COVID-19 หลังเจ้าหน้าที่รัฐพบนักกีฬาที่มีผลการตรวจเชื้อเป็นบวก โดยทางรัฐบาลจีนตัดสินใจจำกัดจำนวนผู้เข้าชมภายในงานอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้บรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และผู้เข้าชมชาวจีนบางรายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีส่วนร่วมภายในการแข่งขันอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมแผนทดลองใช้หยวนดิจิทัลนั้นมีจำนวนลดลงอย่างมาก
มาตรการ COVID-19 อาจชะลอความสำเร็จของแผนทดลองใช้หยวนดิจิทัลได้

Craig Singleton สมาชิกอาวุโสแห่งองค์กร Foundation for Defense of Democracies (FDD) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจากทางรัฐบาลได้ออกมาประกาศคุมเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19 ว่า
“การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้อาจกลายเป็นโอกาสแรกที่นักท่องเที่ยว และประชากรชาวจีนจะได้เข้ามาทำความรู้จักกับหยวนดิจิทัลได้อย่างใกล้ชิด แต่ทว่ารัฐบาลจีนกลับปิดโอกาสเหล่านั้นลง อาจทำให้การยอมรับสกุลเงินดิจิทัลมีแนวโน้มชะลอตัวลงไปมาก”
อย่างไรก็ตามเมื่อลองมองย้อนกลับไปในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการออกมาตรการสำหรับผู้เข้าแข่งขัน และผู้ชมในลักษณะคล้ายกัน แต่ทว่าก็ยังไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ จะเห็นได้ว่าภายในงานมีผู้ป่วยที่มาจากกลุ่มนักกีฬา, เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร จำนวนมากถึง 788 รายด้วยกัน
หยวนดิจิทัลได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากประชาชน และร้านค้า
หน่วยงานรัฐแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เริ่มเปิดให้ประชาชนทดลองใช้หยวนดิจิทัลมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ด้วยการแจก CBDC มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับประชาชนตามเมืองใหญ่ ๆ ในประเทศ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้, เซินเจิน, ซูโจว และเฉิงตู โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมาได้มีการรายงานข่าวมูลค่าการทำธุรกรรมด้วย CBDC ในจีนโดยรวมนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้ทดลองใช้งานมีปริมาณทะลุ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังประสบความสำเร็จในการชักจูงร้านค้าจำนวน 10 ล้านแห่งให้เปิดใช้งานระบบชำระเงินด้วยหยวนดิจิทัลในเดือนพฤศจิกายน อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้ออกมาเผยโครงการนำร่องสำหรับ Wallet ของดิจิทัลหยวนแล้วเช่นเดียวกัน
สหรัฐอเมริกายังคงกังวลต่อการเปิดตัวหยวนดิจิทัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางด้านฝ่ายนิติบัญญัติแห่งประเทศสหรัฐอเมริกายังคงมีความกังวลต่อการเปิดตัวหยวนดิจิทัลอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบางรายอ้างว่าเหรียญดิจิทัลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับเงินดอลลาร์ในการทำหน้าที่เป็นสกุลเงินสำรองของโลกในอนาคตได้ พร้อมออกมาสั่งห้ามไม่ให้นักกีฬาชาวอเมริกันชำระเงินด้วยหยวนดิจิทัลระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างเด็ดขาด

ในขณะเดียวกันทางคณะกรรมการยังได้แนะนำให้นักกีฬาทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน และใช้โทรศัพท์รุ่นเก่าราคาถูกในระหว่างที่พักอาศัยอยู่ในจีนแทน โดยพวกเขาอ้างว่าการใช้สมาร์ทโฟนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการถูกติดตั้งซอฟต์แวร์อันตราย และถูกสอดส่องจากรัฐบาลจีนได้