สถานะ NFT ของไทยเป็นอย่างไร? ใช้ NFT ในไทยได้ไหม?
ทำความรู้จักกับแนวทางการกำกับดูแล NFT ในไทย NFT คืออะไร? ซื้อ NFT ได้ที่ไหน? แนวโน้ม NFT ของไทยเป็นอย่างไร? FAQ คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับ NFT ไทย

ทำความรู้จักกับแนวทางการกำกับดูแล NFT ในไทย NFT คืออะไร? ซื้อ NFT ได้ที่ไหน? แนวโน้ม NFT ของไทยเป็นอย่างไร? FAQ คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับ NFT ไทย
NFT คืออะไร?
กระแส NFT ในโลกคริปโตเคอร์เรนซีนั้นก็ยังไม่แผ่วและยังคงมีการซื้อขาย NFT กันอยู่เรื่อย ๆ สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก NFT นั้นย่อมาจาก Non-Fungible Token คือ เหรียญที่มีคุณลักษณะเฉพาะในตัวเอง เพราะ NFT แต่ละอันไม่สามารถเอามาใช้ร่วมกันหรือแทนกันได้
ปัจจุบัน NFT นิยมนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ, เพลง ตัวละครในเกม เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้งานหรือศิลปะสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มเพื่อสร้าง NFT ของตัวเองได้เช่นกัน (อ่านบทความวิธีสร้าง NFT อยากมี NFT ของตัวเองต้องทำอย่างไร?)
ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะนิยมนำบล็อกเชน Ethereum มาใช้สร้าง NFT และนำ NFT ที่ตัวเองสร้างมาซื้อขายกัน การนำ NFT มาใช้งานในด้านศิลปะนั้นมีข้อดีตรงที่ว่า เราไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาลอกผลงานของเรา และสามารถนำไปขายทอดต่อ ๆ ไปได้ ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถนำผลงานของตัวเองมาประมูลในแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ได้ด้วย
ซื้อขาย NFT ได้ที่ไหน? ตัวอย่าง NFT
ซื้อขาย NFT ได้ที่ไหน?
ตลาด NFT ที่นิยมซื้อขายกันก็จะมี Opensea, Foundation, Rarible, Binance NFT เป็นต้น ผู้ใช้จะต้องมีวอลเล็ทเก็บคริปโตก่อนจึงจะสามารถทำการซื้อขาย NFT บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ (อ่านบทความวอลเล็ตคริปโต (Crypto Wallet) และ Web 3 คืออะไร?) ซึ่งวอลเล็ทที่เป็นที่นิยม ๆ ก็จะมี Metamask เป็นต้น
The Bored Ape Yacht Club

NFT ที่เป็นที่นิยมในเวลานี้ก็คงจะหนีไม่พ้น The Bored Ape Yact Club ซึ่ง Bored Ape นั้นถูกสร้างขึ้นมาเป็นคอลเล็กชั่นทั้งหมด 10,000 คอลเล็กชั่นด้วยกัน ใช้บล็อกเชนของ Ethereum ในการสร้าง มีระบบนิเวศภายในโปรเจกต์ของตัวเอง เช่น บัตรสมาชิก Yacht Club และเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่างสำหรับคนที่เป็นสมาชิกเท่านั้น
ทั้งนี้โปรเจกต์ Bored Ape ก่อตั้งโดยทีมผู้พัฒนา 4 คนคือ Gargamel, Gordon Goner, Emperor Tomato Ketchup และ No Sass
ใช้ NFT ในไทยได้ไหม?
หลังจากที่ทำความรู้จักไปแล้วว่า NFT คืออะไร สามารถซื้อขายได้ที่ไหนบ้าง ทีนี้เรามาดูกันว่าในบ้านเราสามารถใช้งาน NFT ได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่
แนวทางกำกับดูแล NFT ในไทย
กฎหมายที่กำกับดูแลคริปโตเคอณืเรนซีในไทยนั้นก็จะมีพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ซึ่งใน พ.ร.ก. นั้นไม่ได้มีการพูดถึง NFT ไว้อย่างชัดเจน โดยหลักแล้ว พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ประเภท คือ 1) คริปโตเคอร์เรนซี 2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และ 3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
1) คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือเหรียญดิจิทัลที่นำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) คือเหรียญดิจิทัลที่ใช้เพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการ
3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) คือเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือ
ด้านรายงานจาก ก.ล.ต. อธิบายว่า NFT นั้นจะตกอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่นั้นต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายหมวดหมู่ทั้ง 3 อย่างตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ถ้าเข้าก็ต้องทำตามสิ่งที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
เช่น ถ้า NFT มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสิ่งของอะไรบางอย่างหรือให้สิทธิแก่ผู้ถือไปแลกของหรือสิทธิอื่น ๆ อันนี้ก็จะเข้านิยามเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
แต่ถ้า NFT นั้นไม่ได้มีการกำหนดสิทธิใด ๆ เป็นเพียงแต่เก็บไฟล์ดิจิทัลเฉย ๆ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนกันก็จะไม่เข้านิยามสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ถูกกำกับดูแลโดยพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
แพลตฟอร์มขาย NFT ต้องขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ไหม?
ทั้งนี้ผู้ใดก็ตามที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะต้องมีการขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ด้วย ซึ่งเว็บเทรดในไทยที่ได้รับใบอนุญาตแล้วไม่สามารถนำ NFT ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมาให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ จะต้องมีการขอใบอนุญาตตั้งศูนย์ซื้อขาย NFT หรือ NFT Marketplace เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันในไทยยังไม่มี NFT Marketplace ที่ได้รับใบอนุญาต
FAQs
- ตอนนี้สามารถซื้อขาย NFT ในไทยได้ไหม - ผู้ใช้งานสามารถซื้อขาย NFT ได้จากแพลตฟอร์มที่ให้บริการซึ่งในไทยนั้นยังไม่มีตลาดซื้อขาย NFT ที่ได้รับใบอนุญาต อาจจะต้องหันไปใช้ตลาดนอก เช่น OpenSea และอื่น ๆ แทน
- จะรู้ได้อย่างไรว่า NFT นั้นเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่? - NFT ที่จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้จะต้องมีการกำหนดสิทธิอะไรบางอย่างให้กับผู้ถือซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ ก.ล.ต. กำลังพิจารณาแนวทางมากำกับดูแล NFT เพิ่มเติมอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตฐานสากล