Blockchain

สรุป 'adminTransfer' ระบบเจ้าปัญหา Bitkub จริงๆ แล้วคืออะไร ใครกันแน่ที่มั่ว!

Template Private 2022 10 11 T210851.685.png

'adminTransfer' คืออะไร? สรุปประเด็นร้อนคริปโตไทย จริงๆ แล้วเหรียญ KUB โดนควบคุมโดย 'แอดมิน' จริงหรือไม่ พร้อมข้อดี-ข้อเสีย แล้วสุดท้ายใครกันแน่ที่มั่ว!

ไม่นานมานี้ก็คงจะได้เห็นประเด็นร้อนที่ ก.ล.ต. ร่อนประกาศไปหา Bitkub ให้ถอดการระบบ 'adminTransfer' ทิ้งซะ! เพราะเป็นระบบที่ทำให้ผู้ถือครองสิทธิ์ 'แอดมิน' สามารถโอนเหรียญ KUB จากกระเป๋าใครก็ได้แม้ไม่ใช่ของตัวเอง!?

อย่างไรก็ตามก็เหมือนคดีจะพลิก หลังจาก Bitkub ประกาศชี้แจงด่วน ระบุว่าเหรียญ KUB ไม่ได้มีระบบ 'adminTransfer' อย่างที่กล่าวหา แต่จะเป็นระบบของเหรียญที่มีพื้นฐาน KAP-20 ที่พัฒนาโดย Bitkub เท่านั้นที่มี

โดยเหรียญที่มีพื้นฐาน KAP-20 อย่างเช่นเหรียญ KKUB, KBTC, KETH เป็นต้น ซึ่งเหรียญ KUB ที่มีพื้นฐาน ERC-20 แบบเดียวกับ Ethereeum (ETH) จึงไม่ได้มีระบบ 'adminTransfer' ดังกล่าว

Image 30 1024x576.png

ประเด็นยังไม่จบ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ตุลาคม 2565) Bitkub ก็ฮุคซ้ำอีกหนึ่งหมัด เปิดแถลงการอธิบาย 'adminTransfer' อย่างละเอียด ทาง CryptoSiam จึงได้สรุปมาให้อ่านกันแบบง่ายๆ ดังนี้

adminTransfer คือ?

adminTransfer คือระบบที่ทำให้ผู้มีสิทธิ์ 'Admin' สามารถโอนเหรียญจากวอลเล็ทคริปโตของใครก็ได้ แม้ไม่ใช่ของตนก็ตาม โดยผู้ที่มีสิทธิ์ก็สามารถเป็นได้ทั้งผู้พัฒนาเหรียญนั้นๆ เอง หรือใครก็ตามที่ผู้พัฒนามอบสิทธิ์ให้

ในระบบนิเวน์ของ Bitkub ระบบ adminTransfer จะมีอยู่ในเหรียญที่มีพื้นฐาน KAP-20 ที่ทำงานอยู่ในบล็อกเชน 'Bitkub Chain' เท่านั้น อย่างเช่นเหรียญ KKUB, KBTC, KETH เป็นต้น

เหรียญ KUB ไม่มี adminTransfer!

ตอบชัดเจนได้เลยว่า 'ไม่มี' โดยเหรียญ KUB เป็นเหรียญที่ Clone และต่อยอดมาจาก Ethereum (ETH) โดยตรง ดังนั้นจึงมีมารตฐานแบบ 'ERC-20' เช่นเดียวกันกับที่ Ethereum มี และแน่นอน เหรียญมารตฐาน ERC-20 อย่าง Ethereum ไม่สามารถทำ adminTransfer ได้แน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากโอนเหรียญ KUB เข้าไปใน Bitkub NEXT ซึ่งเป็นวอลเล็ทของ Bitkub ที่ทำงานอยู่บน Bitkub Chain เหรียญดังกล่าวจะถูกแปลง (Wrap) เป็น KKUB ซึ่งนั่นเองจึงเข้าข่ายสามารถโดน adminTransfer ได้ (ถ้าไปทำอะไรไม่ดีมานะ) แต่ถ้าหากโอนกลับมานอกวอลเล็ทก็จะถูกแปลงกลับ (Unwrap) ไปเป็นเหรียญ KUB แบบปกติ

กรณีไหนถึงโดน 'adminTransfer'?

จริงๆ ก็ไม่ได้โดนกันง่ายขนาดนั้น โดย Bitkub ระบุว่ากระบวนการตัดสินให้ทำการ 'adminTransfer' เหรียญของใครก็ตามจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับ 'ธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย' หรือมีคำสั่งศาลออกมาบังคับ

นอกจากนี้ยังต้องผ่านคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาอีก 2 ชุด ที่จัดตั้งขึ้นมาแบบพิเศษดังนี้

  1. คณะกรรมการบริหารจัดการ adminTransfer (“Management Committee”) จะเป็นผู้มีสิทธิอนุมัติการใช้งานคำสั่ง adminTransfer โดยอาศัยมติเอกฉันท์ และ
  2. คณะกรรมการชุดย่อยผู้ทำการอนุมัติคำสั่ง adminTransfer (“Execution Committee”) ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อเมื่อได้รับมติเอกฉันท์จาก Management Committee แล้ว
Image 26 1024x576.png
กระบวนการอนุมัติ adminTransfer
รูปภาพ: Bitkub

โดยจะต้องลงสิทธิในการอนุมัติคำสั่ง adminTransfer มากกว่ากึ่งหนึ่ง (มากกว่าร้อยละ 50) ของจำนวนกรรมการใน Execution Committee คำสั่ง adminTransfer นั้นจึงจะสามารถทำงานได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นผู้ใช้ธรรมดา ทั่วๆ ไป ก็ไม่ต้องกังวล ณ จุดนี้

ถ้าแอดมินโดน Hack ละ?

พูดถึงโดน Hack ก็อันตรายหมดแหละ แต่ adminTransfer ก็เตรียมมาสำหรับเหตุการณ์นี้แล้ว

โดยระบบ adminTransfer ของ Bitkub Chain ระบุว่าแอดมินจะต้องมีการอนุมัติแบบ 'Multi Signature' หรือ 'MultiSig' หรือการที่ต้องมีการ 'เซ็น' อนุมัติจากผู้ถือสิทธิ์หลายคน ไม่ใช่แค่คนเดียวก็อนุมัติได้ ดังนั้นจึงเป็นการป้องกันไม่ให้สิทธิระดับ adminTransfer ถูกใช้โดยผู้ไม่ประสงค์ดีได้ในระดับหนึ่ง

ข้อดี-ข้อเสีย

ข้อดีข้อเสีย
ช่วยเหลือผู้เสียหายในกรณีที่ถูกโจรกรรม หรือมีการดึงสภาพคล่องออกจากเครือข่าย (Rug Pull)เนื่องจากการใช้คำสั่ง adminTransfer มีขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายขั้นตอน จึงอาจเกิดความล่าช้าในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว
สามารถดึงเหรียญที่ถูกโอนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต กลับมาสู่เจ้าของที่แท้จริงได้การใช้คำสั่ง adminTransfer อาจไม่สามารถเรียกคืนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ทุกกรณี หากสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไม่ได้อยู่บนมาตรฐาน KAP-20
การใช้คำสั่ง adminTranfer มีความรัดกุมและเชื่อถือได้ เนื่องจากต้องได้รับการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของและหน่วยงานของรัฐ (แล้วแต่กรณี) และจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติเนื่องจากการใช้คำสั่ง adminTransfer ยังต้องอาศัยการใช้สิทธิของคณะกรรมการ จึงยังต้องพึ่งพาบุคคลในการดำเนินการดังกล่าว
Image 27 1024x576.png

ยังเป็นคำถาม เหมาะสมไหมที่ต้องมี 'adminTransfer' ?

แน่นอน คำว่าคริปโต หรือ Blockchain มันมาพร้อมกับคำว่า กระจายศูนย์ (Decentralized), ไร้ตัวกลาง, ไร้การควบคุม, เป็นอิสระ ฯลฯ ตามแต่จะนึกได้ แล้วมันถูกต้องแล้วหรือที่จะมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง หรือองค์กรหนึ่งมีอำนาจถึงขนาดสามารถ 'โอน' เหรียญคริปโตของใครก็ได้อยู่ในมือ?

แน่นอนว่าประเด็นนี้กำลังเป็นคำถามร้อนในวงการคริปโตประเทศไทย อย่าง 'โดม เจริญยศ' นักพัฒนาสายบล็อกเชนชื่อดังชาวไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท Tokenine ก็ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนเรื่อง admintransfer ที่ออกแบบไว้เวลาเกิดปัญหา วันนี้มีกรณี BNB พอดีเลย โดน hack ไปถ้าเป็น KAP-20 ที่มี admintransfer นี่สั่งโอนกลับจาก wallet คนร้ายได้เลยนะครับท่าน เอาไงดีครับ ควรมีหรือไม่ควรมี

Image 29 1024x989.png

ทางด้านของ 'พิริยะ สัมพันธารักษ์' หรือ อ.ตั๊ม นักลงทุนคริปโตชื่อดังก็ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าว โดยตอบสั้นๆ ว่า "ไม่ควรครับ แต่ก็แล้วแต่เลย คหสต"

จับตา ก.ล.ต. จะมีความเคลื่อนไหวใดต่อไป

จนถึงในขณะนี้ (11 ตุลาคม 2565) ทางด้านของสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ยังไม่มีการชี้แจงหรือตอบโต้กรณีดังกล่าว ซึ่งก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วจะมีอะไรซ่อนอยู่นอกเหนือจากนี้หรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการเข้าใจผิดจริงๆ และถ้าหากเข้าใจผิดจริง Bitkub จะมีการตัดสินใจในทิศทางใดต่อเรื่องนี้

DISCLAIMER: การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง มุมมองและความคิดเห็นจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อในการให้ข้อมูลเท่านั้น และไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลทางการเงิน การลงทุน หรือคำแนะนำอื่น ๆ ใด นักลงทุนควรศึกษาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันและมีการควบคุมความเสี่ยงอยู่เสมอ

ติดตาม CryptoSiam
เพื่อให้ไม่พลาด ทุกข่าวสาร วงการคริปโต
ข่าวต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

เหรียญคริปโตกลุ่ม AI และ Big Data พุ่งทะยาน 131% ท่ามกลางกระแสขาขึ้นของ Bitcoin
Bitcoin พลิกเกม! MicroStrategy กำไรพุ่งทะลุเพดาน แซงหน้า Apple, Amazon
Sky เปิดตัว USDS Stablecoin ตัวใหม่! บน Solana พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องกว่า 5 แสนดอลลาร์
BlackRock Bitcoin ETF Options สร้างสถิติใหม่! มียอดซื้อขายวันแรกทะลุ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์