General

เกาหลีใต้กับการรับมือแฮ็กเกอร์ของ Kim Jong-Un

Photo 1501369497246 426438abca8e.jpg

มีใครบ้างที่มีความสามารถมากพอจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบ และรับมือกับการโจมตีอุตสาหกรรม Crypto จากฝีมือของกองกำลังไซเบอร์สังกัดตรงท่านผู้นำคิม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ

เรื่องน่าขันในวงการการเมืองแห่งแดนโสมใต้กำลังเกิดขึ้น เพราะล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลการบริการด้านการเงิน (Financial Services Commission — FSC) ประจำสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ กลับออกมาเป็นผู้ตั้งคำถามเสียเองว่ากระทรวงใดบ้างที่ควรจะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขโมยสกุลเงินภายในประเทศโดยฝีมือของกองกำลังไซเบอร์สังกัดตรงผู้นำคิมแห่งเกาหลีเหนือ

การปฎิเสธความรับผิดชอบอย่างไม่ใยดี

มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าใครกันแน่ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบในการต่อต้านการแฮ็กจากประเทศเกาหลีเหนือซึ่งได้พุ่งเป้ามายังแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลของเกาหลีใต้ โดยทางหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของเกาหลีใต้ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าทางหน่วยงานนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่ Crypto นั้นได้ถูกขโมยไปโดยแฮ็กเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ หน่วยงานของนาย Kim Jong-Unเช่น Lazarus Group

โดยทางหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวนั้นระบุว่ากรณีการโจรกรรมที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยน Crypto ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กร ทั้งยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งห FSC เลือกที่จะส่งต่อความรับผิดชอบนี้ให้กับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Communications Commission — KCC) เป็นผู้ดูแลต่อไป

หลายภาคส่วนมองว่า Crypto คือเรื่องของ “การเงิน”

ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงาน KCC ที่ถูกกล่าวอ้างในข้างต้นต่างเชื่อมั่นว่า แท้ที่จริงแล้ว FSC นั้นควรเป็นฝ่ายที่ออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่บริษัท Crypto หลายแห่งได้รับ เนื่องด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับด้านการเงินทั้งสิ้น ซึ่งทั้งสองหน่วยงานยังมองว่าในจุดที่องค์กร FSC ยืนอยู่นั้นเป็นจุดที่ “ควรทำหน้าที่รับผิดชอบต่อการจัดการ และดูแลบรรดาผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนจริง เช่น แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยน Crypto”

Seong Il-jong ตัวแทนเลขาธิการพรรคฝ่ายค้านในการประชุมด้านการเมืองระดับนานาชาติ (National Assembly's Political Affairs Committee) เองก็ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานของ FSC โดยเขาได้ออกมาย้ำเตือนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าวว่า “ตามเนื้อหาในร่างกฎหมายเกี่ยวกับ Crypto ที่ได้มีการปรับปรุงระบุว่า ปัญหาใด ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Crypto จะตกเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน Financial Services Commission ที่จะต้องออกมาแก้ไข และรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น”

ทำไมหน่วยงานทั้งหลายในเกาหลีใต้จึงหวาดกลัวเกาหลีเหนือ

นับตั้งแต่ประชาคมโลกเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในปี 2018 ทำให้การส่งออกของประเทศเกาหลีเหนือลดลงไปประมาณ 10% ซ้ำร้ายไปกว่านั้นประเทศยังประสบปัญหาด้านการส่งออกซ้ำสองเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ Corona Virus ที่นำไปสู่การปิดพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

แต่ทว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศเกาหลีเหนือกลับยังมีเงินทุนจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง และผลิตขีปนาวุธของพวกเขาได้ นั่นจึงทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายถึงวิธีที่เกาหลีเหนือใข้ในการหาเงินเข้าสู่ประเทศ โดยก็ได้ข้อสรุปจากรายงานของกองทัพสหรัฐอเมริกาว่าทางเกาหลีเหนือให้เงินสนับสนุนโครงการขีปนาวุธด้วยเงินสด และสกุลเงินดิจิทัลที่ขโมยมาจากแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน และธนาคารต่าง ๆ นั่นเอง

กองทัพไซเบอร์อันแสนแกร่งของท่านผู้นำคิม

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบริษัทจัดหาข้อมูล และวิเคราะห์ Blockchain ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Chainalysis ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุถึงจำนวนเงิน Crypto ที่ถูกขโมอยในประเทศเกาหลีเหนือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 2015 – 2019) นั้นมีมูลค่าทะลุ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในเดือนกันยายน ปี 2019 กระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกาได้นำเสนอรายงานระบุว่ามีกลุ่มแฮ็กเกอร์ถึง 3 กลุ่มด้วยกัน (Andariel, Bluenoroff, และLazarus) ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ทำการขโมยสกุลเงินดิจิทัลมูลค่ารวม 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 ไปจนถึงกันยายนปี 2018

นอกจากนั้น ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวจากกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีได้รวบรวมเหล่าแฮ็กเกอร์มากกว่า 6,000 ราย ที่แฝงตัวอยู่ในหลากหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเบลารุส, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐอินเดีย, สหพันธรัฐมาเลเซีย, สหพันธรัฐรัสเซีย และอีกมากมาย

ติดตาม CryptoSiam
เพื่อให้ไม่พลาด ทุกข่าวสาร วงการคริปโต
ข่าวต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง