Arthur Hayes ชี้ การตอบโต้สงครามการค้าของจีนอาจเป็นตัวเร่งให้เงินทุนไหลเข้าตลาดคริปโต ดัน Bitcoin กลับสู่ตลาดกระทิง
Arthur Hayes ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO ของกระดานเทรด BitMEX มองว่า ท่าทีตอบโต้ของธนาคารกลางจีนต่อมาตรการภาษีการค้านำเข้าของสหรัฐฯ อาจกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยจุดชนวนให้ตลาด Bitcoin กลับเข้าสู่ภาวะกระทิงอีกครั้ง

Arthur Hayes ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO ของกระดานเทรด BitMEX มองว่า ท่าทีตอบโต้ของธนาคารกลางจีนต่อมาตรการภาษีการค้านำเข้าของสหรัฐฯ อาจกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยจุดชนวนให้ตลาด Bitcoin กลับเข้าสู่ภาวะกระทิงอีกครั้ง
ในโพสต์บนแพลตฟอร์ม X เมื่อวันที่ 8 เมษายน Hayes กล่าวเปรียบเปรยว่า “ถ้าไม่ใช่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็จะเป็นธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่จะมอบ ‘วัตถุดิบของเกม Yahtzee’ ให้เรา” ซึ่งเป็นการสื่อว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจเป็น "ตัวแปรสำคัญ" ที่จะทำให้ตลาดคริปโตกลับมาคึกคัก หรือเข้าสู่ภาวะตลาดกระทิง (ฺBull market) ได้อีกครั้ง
Hayes ระบุเพิ่มเติมว่า หากธนาคารกลางจีนตัดสินใจลดค่าเงินหยวนเพื่อรับมือกับภาษีนำเข้า “แนวโน้มที่เงินทุนจีนจะไหลเข้าสู่ Bitcoin จะกลับมา” พร้อมย้ำว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2013 และ 2015 และอาจเกิดขึ้นได้อีกในปี 2025 นี้
Ben Zhou ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Bybit ก็แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยกล่าวว่าจีนมีแนวโน้มที่จะลดค่าเงินหยวนเพื่อตอบโต้ภาษีนำเข้า และ “ทุกครั้งที่ค่าเงินหยวนอ่อนตัว เงินทุนจากจีนจำนวนมากก็มักจะไหลเข้าสู่ Bitcoin” ซึ่งถือเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับราคาของคริปโตเคอร์เรนซี
เงินหยวนอ่อนตัว จุดชนวนตลาด Bitcoin หลายครั้ง
ในอดีต เหตุการณ์การลดค่าเงินหยวนมีความสัมพันธ์กับการปรับตัวขึ้นของราคา Bitcoin หลายช่วงด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม 2015 จีนลดค่าเงินหยวนเกือบ 2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการลดลงในวันเดียวที่มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แม้จะไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของราคา Bitcoin ในช่วงนั้นเป็นผลโดยตรงจากการลดค่าเงินหยวน แต่ความสนใจของนักลงทุนที่หันมาเก็บ Bitcoin ก็มีให้เห็นอย่างชัดเจน
เช่นเดียวกับในเดือนสิงหาคม 2019 เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าจนหลุดแนวรับที่ระดับ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาของ Bitcoin ก็พุ่งขึ้นกว่า 20% ภายในสัปดาห์แรกของเดือนดังกล่าว นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า นักลงทุนชาวจีนใช้ Bitcoin เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
นอกจากนี้ Grayscale บริษัทจัดการสินทรัพย์คริปโตชื่อดัง ก็เคยระบุในปี 2019 ว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นตลาด Bitcoin ในช่วงเวลานั้น
การหลีกเลี่ยงการควบคุมเงินทุนและการปกป้องความมั่งคั่ง
นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า นักลงทุนจีนรายใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้คริปโตอย่าง Bitcoin เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องความมั่งคั่งของตนเอง หรือเพื่อย้ายเงินออกนอกประเทศ และรวมถึงหลีกเลี่ยงการควบคุมเงินทุนของภาครัฐ
การลดค่าเงินในระยะยาวยังอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อความสามารถของธนาคารกลางในการบริหารนโยบายการเงิน นำไปสู่การเคลื่อนไหวของประชาชนและนักลงทุนสู่ทางเลือกที่ไม่มีศูนย์กลางควบคุมอย่าง Bitcoin
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มมาตรการภาษีนำเข้าเพิ่มเติมต่อจีน ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะตอบโต้ในทุกกรณี โดยกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า
“หากสหรัฐฯ เดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีเพิ่มเติม จีนจะดำเนินมาตรการโต้กลับอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง”
หากจีนเดินหน้าลดค่าเงินหยวนเพื่อตอบโต้การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จุดประกายให้ตลาดคริปโตกลับมาคึกคักอีกครั้ง และ Bitcoin ก็อาจกลับมารับบทบาท “สินทรัพย์ปลอดภัย” ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอีกครั้ง
อ้างอิง : Cointelegraph
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: การลงทุนมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง
ข้อมูลในบทความนี้มีจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น Cryptosiam ไม่รับประกันความสมบูรณ์ ความถูกต้อง หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าว และไม่มีสิ่งใดในบทความนี้ที่ควรใช้เป็นคำแนะนำหรือชักชวน ให้ซื้อหรือขายคริปโต รวมทั้งการประเมินใดๆ ไม่มีข้อความใดในบทความที่ถือเป็นคำแนะนำทางกฎหมาย วิชาชีพ การลงทุน และ/หรือทางการเงิน และ/หรือคำนึงถึงความต้องการเฉพาะ และ/หรือข้อกำหนดของแต่ละบุคคล
Cryptosiam และบริษัทในเครือ ขอปฏิเสธความรับผิด หรือความรับผิดชอบทั้งหมดเกี่ยวกับเนื้อหาของบทความ และการดำเนินการใดๆ กับข้อมูลในบทความนั้น เป็นความเสี่ยงของผู้อ่าน และถือเป็นความเสี่ยงแต่เพียงผู้เดียว