Blockchain สามารถทำให้ GDP ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.76 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
รายงานของ PwC ประเมินว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นจะยิ่งใหญ่ และคิดเป็นมูลค่า 1.4% ของเศรษฐกิจโลก
รายงานของ PwC ประเมินว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นจะยิ่งใหญ่ และคิดเป็นมูลค่า 1.4% ของเศรษฐกิจโลก
การศึกษาใหม่ของ PwC หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนผ่านกรณีการใช้งานที่หลากหลายจบพบว่าเทคโนโลยีบล็อคเชนนั้นมีความสามารถมากพอที่จะทำให้ GDP ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.76 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคิดเป็น 1.4% ของ GDP โลกในปี 2030
เมื่อเทคโนโลยีมีบทบาทในการสร้างความเชื่อมั่น
ในการสำรวจ PwC พบว่า CEO มากกว่า 50% เชื่อว่าความไว้วางใจที่ไม่แน่นอนในกระบวนการทางธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อองค์กร
รายงานระบุว่าความสนใจที่เพิ่มขึ้นในเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งระบบนั้นจะต้องสามารถสร้างความไว้วางใจในกระบวนการดำเนินงานรูปแบบต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับตัวกลาง
ตามรายงานของ PwC ยังระบุอีกว่า Blockchain จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบสัญญา เอกสารระบุตัวตน ใบรับรอง บันทึก และข้อตกลงต่าง ๆ
การเติบโตของ Blockchain มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?
ภายในสิ้นปี 2021 Blockchain จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกที่ประมาณ 6.6 หมื่นล้านเหรียญ โดยจากการรายงานคาดการณ์ว่าผลกระทบของ Blockchain จะเพิ่มขึ้น 6.5 เท่าภายในปี 2025 โดยมีการประเมินมูลค่า ณ ขณะนั้นเอาไว้ที่ 4.22 แสนล้านดอลลาร์
ต่อมาภายในปี 2030 จีน และสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะเพิ่มรายได้มูลค่า 4.40 แสนล้านดอลลาร์ และ 4.07 แสนล้านดอลลาร์ให้กับ GDP ของตนผ่านการขยายการใช้บล็อกเชน ในขณะที่เยอรมนี, อินเดีย, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรจะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมบล็อกเชนเช่นเดียวกัน
ท้ายที่สุดแล้ว Blockchain จะกระจายอยู่ตามสายงานต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
นักเศรษฐศาสตร์ของ PwC ได้ประเมินศักยภาพของ Blockchain ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ อุตสาหกรรมการดูเเลสุขภาพ, อุตสาหกรรมการผลิต, งานด้านการเงิน, กิจการการค้าปลีก, โลจิสติกส์ รวมไปถึงในภาคการบริหารของรัฐบาล และการบริการสาธารณะ โดยพวกเขาคาดว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในปี 2025
นอกจากนี้พวกเขายังทำการจัดอันดับกรณีการใช้งานบล็อกเชน 5 อันดับแรกในอีก 10 ปีข้างหน้าเอาไว้ด้วย ซึ่งได้แก่
1.การติดตามแหล่งที่มาของสินค้า (Provenance)
2.บริการการชำระเงิน และเครื่องมือทางการเงิน
3.การระบุตัวตน
4.สัญญา และการระงับข้อพิพาท
5.การสร้างความปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ Customer Engagement
ซึ่งการใช้งาน Blockchain ในภาคส่วนการติดตามแหล่งที่มาของสินค้าเพียงอย่างเดียว คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับ GDP ทั่วโลกถึง 9.62 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนด้านของบริการการชำระเงิน และเครื่องมือทางการเงินมีแนวโน้มจะเพิ่ม GDP ที่ 4.33 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่กรณีการใช้งานบล็อกเชนที่เหลือนั้นจะมีผลกระทบต่อ GPD ในมูลค่าที่ 2.24 แสนล้านดอลลาร์, 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ตามลำดับ