โปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana ช่วยยุติการตัดต้นไม้
การผสานรวมภาพถ่ายจากดาวเทียมเข้ากับวิทยาการข้อมูลนับเป็นกลยุทธ์ที่โปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana ต้องการนำมาใช้เพื่อจูงใจให้ผู้คนเลิกตัดต้นไม้
การผสานรวมภาพถ่ายจากดาวเทียมเข้ากับวิทยาการข้อมูลนับเป็นกลยุทธ์ที่โปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana ต้องการนำมาใช้เพื่อจูงใจให้ผู้คนเลิกตัดต้นไม้
ในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็ตระหนักถึงสัญญาณเตือนภัยพิบัติจากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจจากทั่วทุกมุมโลก ผลการศึกษาได้บ่งชี้ว่าพื้นที่ป่าดิบชื้นที่ถูกทำลายนั้นมีอัตราส่วนเท่ากันกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีนในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้โปรเจกต์การระดมทุนบริจาคคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อนำไปซื้อพื้นที่ปลูกป่าจากผู้ถือกรรมสิทธ์ที่ดิน และขยายเขตอุทยานแห่งชาติ รวมไปถึงการยับยั้งการทำลายผืนป่าเริ่มทะยอยเกิดขึ้นมา แน่นอนว่า Solana เองก็ไม่พลาดที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานโครงการสีเขียว จนสามารถชนะการประกวดบนเวที Hack4Climate ที่จัดขึ้นในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (COP 23) โดยองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2017 มาได้ พร้อมสานต่อนำ NFTrees เข้ามาปลูกฝังจิตสำนึกให้ผู้คนเลิกทำลายป่าไม้
ร่วมกันยุติการตัดไม้ไปกับโปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana
GainForest หรือ โปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana ได้เริ่มดำเนินการช่วยอนุรักษ์ผืนป่ามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ด้วยการผสาน Smart Contracts รวมกับภาพถ่ายดาวเทียม และภาพถ่ายจากโดรน รวมไปถึงวิทยาการการค้นหาองค์ความรู้เชิงลึก (Data Science) โดยล่าสุด GainForest ผนึกกำลังกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งปารากวัย (MADES) ปกป้องผืนป่าหลายพันเฮกตาร์ในพื้นที่ Gran Chaco Americano ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากที่สุด และยังเป็นหนึ่งในแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink) ที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่งอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้โปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana เป็นโครงการคริปโตสีเขียวโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศ โดย David Dao ผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจกต์เตรียมนำผลลัพธ์การดำเนินการเบื้องต้นขึ้นเสนอต่อที่ประชุม COP 23 ในประเทศอียิปต์ในเร็ว ๆ นี้
NFTrees กำลังจะถูกนำไปใช้ในโปรเจกต์รักษ์โลกของ Solana
ทั้งนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ GainForest และพันธมิตรขององค์กรที่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) นำ Blockchain ของ Solana ที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดปริมาณการปล่อย และดูดก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) มาใช้ควบคุมการบริจาคคริปโตที่เชื่อมโยงกับข้อมูลที่แม่นยำจากดาวเทียม และโดรนที่เข้าสำรวจพื้นที่ป่า ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลข้างต้นในรูปแบบ Decentralized จะถูกดำเนินการโดย Filecoin Green Project โดยผู้ที่ร่วมบริจาคให้กับโปรเจกต์นั้น จะได้รับข้อมูล, ภาพจากกล้องถ่ายสัตว์ป่า และติดต่อกับชนเผ่าพื้นเมืองได้ในรูปแบบของ Non-Fungible Token (NFT) ในชื่อ NFTrees เพื่อจูงใจให้นักลงทุนหันมาสนใจบริจาคเงินให้กับทางโปรเจกต์เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ทางองค์กรยังได้มีการจัดทำแผนที่โดยละเอียดด้วยอัลกอริธึมเพื่ออัปเดตความเคลื่อนไหวของโปรเจกต์รักษ์โลกในแต่ละโครงการ ซึ่งแผนที่ดังกล่าวได้ช่วยขจัดความไม่แน่นอนของกลไกการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offseting) ในรูปแบบเดิม รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ในบางพื้นที่เพิ่มเติมลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ตัวโครงการก็ยังคงมีข้อบกพร่องสำหรับผู้ที่บริจาคเงินอยู่บ้าง เนื่องจากยังไม่สามารถระบุผลกระทบจากการลงทุนโปรเจกต์สีเขียวที่แน่นอนให้แก่นักลงทุนได้นั่นเอง
กลยุทธ์ที่ Solana วางแผนจะจูงใจเจ้าของที่ดิน
แน่นอนว่า การจะขยายผืนป่าออกไปได้นั้น ทางผู้ดำเนินการจำเป็นที่จะต้องกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกร หรือ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่จะนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นที่ป่า แต่ทว่า สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งถูกค้นพบขึ้นในประเทศปารากวัย ที่ราคาที่ดินนั้นถูกจนน่าตกใจ จะเห็นได้จากขายที่ดินในปี 1980 ที่คิดราคาเพียงแค่ 20 ดอลลาร์ต่อ 1 เฮกตาร์เท่านั้น ทางด้านผู้ร่วมก่อตั้ง GainForest ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวผ่านสำนักข่าวต่างประเทศรายหนึ่ง ระบุว่าราคาผืนป่าที่บริสุทธิ์ในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ในปัจจุบันนั้นมีราคาไม่สูงมากเท่าไรนัก อยู่ที่ระหว่าง 300 ถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เจ้าของที่ดินบางรายกลับต้องตัดสินใจทำลายผืนป่า และสร้างฟาร์มปศุสัตว์ขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางในการลงทุนเพื่อหารายได้เสริม โดยที่ไม่รู้มาเลยว่า การลงทุนเหล่านั้นอาจไม่ได้สร้างกำไรได้คุ้มค่าเท่าที่พวกเขาคาดการณ์เอาไว้ เนื่องจากการก่อตั้งฟาร์มนั้น จำเป็นจะต้องมีการกำหนดโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจต้องพบเจอกับความล้มเหลวที่จะตามมาได้ ด้วยเหตุนี้ Dao จึงได้มองเห็นโอกาส และเร่งเข้าถึงผู้คนในกลุ่มนั้นให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวต่างประเทศรายหนึ่งว่า
“พวกเราต้องพยายามที่จะเข้าถึงผู้คนกลุ่มนั้นให้ได้ ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจสร้างฟาร์มขึ้นมาแล้วบอกว่าเงิน 1,000 ดอลลาร์ไม่คุ้มกับการลงทุนในครั้งนี้เลย ผมเชื่อว่าปารากวัยสามารถทำได้ดีกว่านี้”
อุปสรรคในการอนุรักษ์ผืนป่า
จากสถานการณ์ข้างต้น ได้แสดงให้เห็นว่า อุปสรรคครั้งใหญ่ของ GainForest ก็คือการที่ทางองค์กรไม่สามารถกว้านซื้อที่ดินเพื่อนำมาขยายพื้นที่ป่าได้นั้นเอง แม้ว่าวิธีดังกล่าวอาจดูเป็นเพียงหนทางการแก้ไขปัญหาเดียวที่มี แต่ทว่าทางทีมงานของ Solana ก็ได้ผุดอีกหนึ่งทางเลือกที่จะยังพอช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งนั่นก็คือการสร้างสัญญาที่ถูกต้องทางกฎหมายเพื่อให้เจ้าของที่ดินได้รับเงินตรงตามกำหนดเวลา พร้อมกับผูกมัดป้องกันไม่ให้พวกเขาทำลายป่าไม้อีกได้นั่นเอง
การบริจาคเงินจะช่วยยุติการทำลายป่าไม้ลงได้อย่างไร?
ผลการศึกษาหลายฉบับคาดการณ์ว่าการบริจาคเงินให้กับองค์กรสีเขียวเพื่อนำไปอนุรักษ์ผืนป่าในจำนวนระหว่าง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี อาจช่วยหยุดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ทั่วโลกได้ โดย Dao ก็ได้ออกมากล่าวว่า
“การตัดไม้ทำลายป่าอาจยุติลงได้เริ่มนับตั้งแต่วันนี้ไปอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น สิ่งที่พวกเราต้องการมีแค่จำนวนเงินที่เพียงพอ … ผู้คนต้องการโอกาสที่จะทำให้ระบบการเงินของโปรเจกต์อนุรักษ์ผืนป่ายั่งยืนขึ้น ซึ่งหากเป็นไปได้ พวกเราก็จะสามารถลดอุณหภูมิทั่วโลกได้มากถึง 0.2 องศาเซลเซียส ช่วยซื้อเวลาให้เราคิดค้นวิธีลดการปล่อยคาร์บอนในสังคม และแน่นอนว่าเราต้องการสิ่งเหล่านั้น”