DPU ประเดิมแจกปริญญาบัตร NFT ที่แรกในไทย
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU เตรียมความพร้อมเข้าสู่โลก Web3.0 และ Metaverse ประเดิมมอบปริญญาบัตร NFT ที่แรกในไทย
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU เตรียมความพร้อมเข้าสู่โลก Web3.0 และ Metaverse ประเดิมมอบปริญญาบัตร NFT ที่แรกในไทย
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมากระแสความนิยมของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Non-Fungible Token (NFT) จะเริ่มถดถอยลงไปบ้าง แต่ทว่าล่าสุด สินทรัพย์ดังกล่าวก็ได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการศึกษาอีกครั้ง เมื่อมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่โลก Web3 และ Metaverse ด้วยการมอบปริญญาบัตร NFT ที่แรกในไทย พร้อมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเข้าสู่ความท้ายทายในโลกแห่งการเรียนรู้ และเทคโนโลยี
ความมุ่งมั่นอันแรงกล้า
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวทางในการบุกเข้าโจมตีตลาดดิจิทัลในการปรับตัวตามเทรนด์โลกให้ทัน พร้อมมุ่งมั่นทำงานร่วมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากยุค Web2 ไปสู่ Web3 เพื่อให้สถาบันการศึกษาถูกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งในปัจจุบันทาง DPU ก็กำลังเตรียมความพร้อมทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ไปตลอดจนระบบนิเวศที่จะช่วยรองรับการศึกษาสำหรับโลกอนาคตได้ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ท่านอธิการบดียังได้ออกมากล่าวถึงการมอบปริญญาบัตร NFT ดังกล่าวว่า
“สำหรับในปีแรกนี้ ถือเป็นการนำร่องโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาสมัครใจที่จะเข้าร่วมขอรับปริญญา NFT หรือไม่รับก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ ว่านอกจากใบปริญญาบัตรในห้องพิธีแล้ว บัณฑิตคนไหนอยากได้ปริญญาบัตรแบบ NFT เตรียมพร้อมก้าวสู่โลก Metaverse และ Web3 ในอนาคต ก็สามารถสมัครได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้”
D.OASIS ก้าวแรกสู่โลกดิจิทัลของ DPU
ทั้งนี้ DPU ยังได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร DPU Core ที่ประกอบไปด้วย 6 ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานของนักศึกษาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีม และ ทักษะความรอบรู้เรื่องเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ให้ผู้เรียนสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง พร้อมกันนี้ยังได้จัดเตรียมกลุ่มวิชาที่รวมองค์ความรู้จากหลายคณะมาสอนแบบบูรณาการเพิ่มเติมผ่านการปรับการเรียนแบบโมดูล (Module) ซึ่งจะถูกนำไปจัดเก็บไว้ในรูปแบบ NFT ด้วยเช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยยังได้วางแผนที่จะนำการเรียนการสอน หรือการทำกิจกรรมบางส่วนขึ้นไปไว้บนแพลตฟอร์ม Metaverse ที่ทางสถาบันตั้งใจสร้างขึ้นภายใต้ชื่อ D.OASIS Metaverse Platform หลังร่วมมือกับพันธมิตรจากหลายธุรกิจ เช่น J Ventures, Index Creative Village, Eventpass, Warrix, Prakit Holdings และองค์กรอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการสัมผัสกับประสบการณ์บนโลกดิจิทัลได้ก่อนใครอีกด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีภารกิจหลักทั้งหมด 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
- D.OASIS Lab ให้ความสำคัญในด้านการสร้างคน และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse
- D.OASIS City ให้ความสำคัญกับการสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse
- D.OASIS Studios ให้ความสำคัญกับการพัฒนา NFT ในหลากหลายรูปแบบ
- D.OASIS DAPPs ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Applications)
จุดเด่นของปริญญาบัตร NFT ที่แรกในไทย
ดร.ดาริกา ยังได้อธิบายถึงจุดเด่นที่น่าสนใจของปริญญาบัตรในรูปแบบดิจิทัลที่จะเปลี่ยนให้ใบปริญญาธรรมดามีความพิเศษขึ้นด้วยการสร้างความออริจินัล (Original) และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ รวมไปถึงบัณฑิตยังสามารถจัดเก็บไว้ได้ตลอดไป โดยที่สินทรัพย์จะไม่ได้รับความเสียหาย หรือ สูญหายได้เลย
นอกจากนั้นแล้ว ไม่ใช่แค่เพียงบัณฑิตป้ายแดงเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ก็ยังสามารถที่จะลงทะเบียนรับปริญญาบัตร NFT ที่แรกในไทยได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การจูงใจผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมบนโลกดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
จะขอรับปริญญาบัตรแบบ NFT ได้อย่างไร?
ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะดำเนินการอนุญาตให้นักศึกษาที่มี Wallet สามารถดาวน์โหลด และยื่นเอกสารขอรับปริญญาบัตรในรูปแบบ NFT ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2021 เป็นต้นไป โดยทางสถาบันได้ร่วมมือกับ SmartContract Blockchain Studio และ บริษัท ไอเพ็น สตูดิโอ จำกัด ในการจัดการด้านระบบการออกปริญาบัตรครั้งนี้
กรณีศึกษาจากแดนกิมจิ
ประเทศเกาหลีใต้เองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Web3 และ Metaverse อย่างมากในหลากหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน ไม่เว้นแม้แต่ในวงการการศึกษา โดยที่แรกที่เราจะมายกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ มหาวิทยาลัยโฮซอ (Hoseo) ในสาธารณรัฐเกาหลี ที่ได้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทรนด์การมอบปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาในรูปแบบ NFT จำนวนกว่า 2,830 ใบ หลังจากทางมหาวิทยาลัยตั้งใจที่จะนำ NFT เข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการปลอมแปลงใบปริญญา เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain นั้นมีความโปร่งใส และยังสามารถแกะรอย รวมไปถึงระบุตัวตนผู้ใช้งานทุกคนได้อีกด้วย นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ภายในแวดวงการศึกษายังช่วยให้บัณฑิตสามารถเข้าถึงการจัดการภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกขึ้นด้วยนวัตกรรมดังกล่าวอีกด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย SungKyunkwan ก็ได้ร่วมมอบปริญญาบัตร NFT ให้กับบัณฑิตในพิธีจบการศึกษาจำนวนทั้งหมด 3 ใบ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา