ครม.เห็นชอบให้ละเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโตถึงสิ้นปี 66
แถลงการณ์ผลการประชุมครม.ครั้งล่าสุดเผย มีการลงมติเห็นชอบให้ละเว้นภาษีคริปโต เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีของประชาชน และสร้างความเป็นธรรม
แถลงการณ์ผลการประชุมครม.ครั้งล่าสุดเผย มีการลงมติเห็นชอบให้ละเว้นภาษีคริปโต เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีของประชาชน และสร้างความเป็นธรรม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 8 มีนาคม ระบุว่าครม.ตัดสินใจลงมติเห็นชอบให้ละเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโต พร้อมทั้งเสนอร่างกฎหมายละเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรัษฎากรสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวนทั้งหมด 3 ฉบับ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการพัฒนาระบบชำระเงิน และส่งเสริมเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เดือนเมษายน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566
การเก็บภาษีเป็นเหตุ
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรได้ออกมาประกาศจัดเก็บภาษีผู้ที่ได้กำไรจากคริปโต ตามกฎหมายพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่ระบุให้บุคคลใดที่มีกำไร หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโต จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่งผลให้บรรดานักลงทุน และผู้ที่คร่ำหวอดภายในวงการคริปโตต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการออกมาประชุมหารือเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
ปัจจัยสำคัญที่สร้างอุปสรรคต่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงปัจจัยที่ทำให้คณะรัฐมนตรีร่วมลงมติ ไฟเขียวให้กับภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโตเคอเรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการซื้อขายคริปโตเคอเรนซีบนแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นมีปริมาณ และความถี่ที่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์มีความผันผวนตลอดเวลา รวมไปถึงบรรดานักลงทุนเองก็ไม่สามารถที่จะนำผลขาดทุนมาคำนวณออกจากกำไรการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งสร้างอุปสรรคในการแสดงรายได้ที่แท้จริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสร้างข้อจำกัดที่ไม่สามารถเอื้อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริงนั่นเอง
ครม.ร่วมกันหารือ หลังเห็นชอบให้ละเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโตได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาร่วมเปิดเผยรายละเอียดสำคัญจากการประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อดำเนินการละเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการทำธุรกรรมคริปโตเคอเรนซีบนตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (CBDC) ตามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน ออกจากกำไรการขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่าความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินในอนาคตให้พร้อมรับมือกับเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ทางหน่วยงานตัดสินใจเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2 ฉบับ โดยมีหลักการดังนี้
- ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโตเคอเรนซีบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2565จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566
- ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอน CBDC นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2565จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566
นอกจากนี้ ทางครม. ยังได้อนุมัติให้ออกร่างกฎหมายกระทรวงเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ซึ่งออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเฉพาะคริปโตเคอเรนซีที่ตีราคาเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุนไป โดยเริ่มให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2561
ร่างกฎหมายในครั้งนี้ช่วยอะไรได้บ้าง?
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายคริปโตเฉลี่ยต่อวันเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล จากเดิมที่ 420 ล้านบาท กระโดดขึ้นฃาอยู่ที่ 4,839 ล้านบาท รวมไปถึงจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.7 แสนราย มาเป็น 1.98 ล้านราย ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลจึงได้เริ่มมีการปรับแก้มาตรการภาษีดังกล่าวให้มีเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น การออกมาแก้ไขข้อกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยให้การซื้อขายคริปโตของเหล่านักลงทุนบนตลาดแลกเปลี่ยนในไทย มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลให้กับผู้คนได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน