JPX เตือนอย่าหลงเชื่อแพลตฟอร์มคริปโตปลอม
นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้รับคำเตือนให้ระวังแพลตฟอร์มคริปโตปลอมของเหล่านักต้มตุ๋นที่แฝงตัวมาในคราบของบริษัท JPX เพื่อเสนอบริการซื้อขายคริปโต
นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้รับคำเตือนให้ระวังแพลตฟอร์มคริปโตปลอมของเหล่านักต้มตุ๋นที่แฝงตัวมาในคราบของบริษัท JPX เพื่อเสนอบริการซื้อขายคริปโต
Japan Exchange Group (JPX) ตลาดหลักทรัพย์ประจำกรุงโตเกียว และเจ้าของตลาดหลักทรัพย์แห่งโอซาก้า ได้ออกมาเตือนประชาชนในประเทศญี่ปุ่นให้ระมัดระวังแพลตฟอร์มคริปโตปลอมที่อาจแฝงตัวเข้ามาในนามของแบรนด์ JPX เพื่อหลอกให้นักลงทุนขายสินทรัพย์คริปโต
แพลตฟอร์มคริปโตปลอมระบาดหนักในญี่ปุ่น
JPX ได้ออกมาประกาศแจ้งเตือนหลังจากได้รับรายงานการก่อคดีอาชญากรรมอย่างต่อเนื่องบนแพลตฟอร์มโดยการหลอกล่อให้นักลงทุนซื้อขาย Bitcoin (BTC) และสกุลเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มปลอมในชื่อ JPX หรือ ชื่อบริษัทในเครือ ทั้งนี้ทางบริษัทได้เน้นย้ำว่าการฉ้อโกงดังกล่าวนั้น มักจะมีการปลอมแปลงชื่อ โลโก้ และ URL ของ JPX ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแบบที่พบบนแพลตฟอร์ม และโปรเจกต์การตลาดต่าง ๆ บ่อยที่สุด ได้แก่ JPEX, jpex และ Japan Exchange ทั้งนี้ทางแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนได้ออกมาเตือนว่า
“บริษัท และแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนที่มีชื่อดังกล่าวนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ Japan Exchange Group, Inc. (JPX) หรือ บริษัทอื่น ๆ ในเครือ JPX Group แต่อย่างใด”
JPX กำลังขึ้นแท่นเป็นผู้บุกเบิกการใช้ Blockchain
แม้ว่าปัจจุบัน ทาง JPX จะยังไม่ได้ออกมาเปิดให้บริการการซื้อขายคริปโตแก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นก็ตาม แต่ทว่าบริษัทก็กำลังขึ้นเป็นผู้นำของตลาดที่สร้างโปรเจกต์การทดลองใช้ Blockchain และ Distributed Ledger Technology (DLT) จำนวนมากร่วมกับระบบการเงินแบบดั้งเดิม
โปรเจกต์ที่กล่าวไปข้างต้นของ JPX นั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าปรับปรุงความโปร่งใสของข้อมูล และประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Blockchain นอกจากนี้ทางบริษัท และสถาบันการเงินในญี่ปุ่นอีกกว่า 33 แห่งได้เริ่มทดสอบ และศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain หรือ DLT ไปใช้กับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนภายในประเทศที่ยังคงดำเนินการอยู่
นักต้มตุ๋นเริ่มแฝงตัวเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง
การแจ้งเตือนล่าสุดของทาง JPX ชี้ให้เห็นว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้นนั้นมาจะแฝงตัวเข้ามาในรูปแบบของโปรเจกต์คริปโตที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นแบรนด์ที่เรียกความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันถูกพบจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเหล่าอาชญากรจะปลอมตัวเข้ามาเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยม เช่น Tesla, Jurassic Park และ Animoca Brands เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโปรเจกต์ปลอม ๆ เหล่านั้น ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับบริษัทข้างต้นเลยแม้แต่น้อย
รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา
แผนการนำคริปโตเข้ามาใช้ภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นได้รับกระแสตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่นักต้มตุ๋นพยายามที่จะหลอกลวงเหล่านักลงทุนหน้าใหม่ โดยก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม รัฐบาลญี่ปุ่นเคยได้ออกมารายงานถึงแผนการพัฒนาให้การลงทะเบียนของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตนั้นทำได้ง่ายขึ้น เพื่อเอื้อให้บริษัทได้ออกมาแสดงสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดขายปลีกภายในประเทศ แน่นอนว่า หากข้อเสนอดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะช่วยทำให้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนที่ได้ลงทะเบียนกับทาง Financial Services Agency (FSA) จะได้รับอนุญาตให้สามารถแสดงรายการสินทรัพย์บางประการได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการตรวจสอบที่กินเวลานานจนเกินไป
การโจมตีของอาชญากรคริปโตเริ่มระบาดหนักในปี 2022
นับตั้งแต่ในช่วงต้นปี คดีอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์นั้นก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล หน่วยงานในหลายประเทศก็ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อลิงก์ หรือบริษัทที่ต้องสงสัย เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อให้แก่เหล่านักต้มตุ๋นเหล่านี้
ไม่เว้นแม้แต่แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตชื่อดังอย่าง Binance ที่ทาง CZ ซีอีโอ Binance ถึงกับต้องออกโรงเตือนผู้ใช้งานด้วยตนเอง โดยเขาได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนผู้ใช้งานผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมระบุใจความว่าการก่ออาชญกรรมครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น โดยอาชญากรจะลงมือผ่านการส่ง SMS พร้อมแนบลิงก์สำหรับการยกเลิกกระบวนการถอนเงินไปยังผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม Binance ซึ่งหากผู้ใช้งานได้เผลอล็อกอินเข้าไปยังระบบของเว็บไซต์ปลอม ทางอาชญากรจะสามารถดึงข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาไปได้ในทันที
นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ชื่อดังที่เพิ่งตกเป็นเหยื่อแก่เหล่าแฮ็กเกอร์ไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตามรายงานพบว่า เหล่าแฮกเกอร์ได้พบจุดอ่อนด้านระบบรักษาความปลอดภัย และทำการเจาะเข้ามาขโมยโทเคน Wrapped Ether (wETH) จำนวน 120,000 เหรียญ หรือ คิดเป็นมูลค่า 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจากโปรเจกต์ Wormhole token bridge ด้วยเช่นเดียวกัน