รายงาน Fed ชี้ CBDC อาจเข้ามาลดบทบาทธนาคารพาณิชย์
รายงานจาก Fed เผยว่าสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอาจเข้ามาแทนที่ระบบธนาคารพาณิชย์

รายงานจาก Fed เผยว่าสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอาจเข้ามาแทนที่ระบบธนาคารพาณิชย์
โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเริ่มมองเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี DLT ที่สามารถทำให้การส่งข้อมูลเป็นไปอย่างลื่นไหล ซึ่งเทคโนโลยีนี้ยิ่งมีประโยชน์ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล
เทคโนโลยี DLT ก็คือเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเครือข่าย ผู้เข้าร่วมเครือข่ายจะสามารถส่งข้อมูลระหว่างกันได้โดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางและสามารถนำ Smart Contract มาใช้กำหนดเงื่อนไขของสัญญาที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามได้โดยอัตโนมัติ
รัฐบาลหลายๆประเทศมองเห็นข้อดีของเทคโนโลยี DLT จึงได้มีความคิดริเริ่มสร้างสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ออกมา เช่น ประเทศจีนก็มีโครงการ DC/EP หรือแม้แต่ประเทศไทยก็มีโครงการอินทนนท์ที่เป็นโครงการเหรียญดิจิทัลของธนาคารกลางเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นสิ่งที่ดีที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆหันมาใช้เทคโนโลยี แต่มันก็ตามมาด้วยต้นทุนที่รัฐบาลจะต้องจ่าย ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง
สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอาจเข้ามาแทนที่ธนาคารพาณิชย์
รายงานจาก Fed (ระบบธนาคารกลางของสหรัฐอเมริการหรือ Federal Reserve) ได้ทำการศึกษาในเรื่องของระบบสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในหัวข้อ “Central Bank Digital Currency: Central Banking for All?” ซึ่งจะเป็นการศึกษาผลกระทบหากสร้างสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางออกมาโดยจะเจาะประเด็นไปที่ธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก
โดยรายงานนี้เป็นการทำวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย Pennsylvania และ Chicago ซึ่งมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่หากเปิดใช้งาน CBDC ขึ้นมามีโอกาสที่ผู้บริโภคจะเปิดบัญชีกับธนาคารกลางโดยตรง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ธนาคารพาณิชย์ก็จะเสียลูกค้า (Potential Customer) ไปบทบาทของธนาคารพาณิชย์จะลดน้อยลง
เห็นได้ชัดในเรื่องของ Maturity Transformation หรือการที่สถาบันการเงินนำแหล่งเงินทุนระยะสั้น เช่น จากบัญชีเงินฝากแล้วเปลี่ยนมันมาเป็นการให้กู้ระยะยาว เช่น การจำนอง บทบาทของธนาคารพาณิชย์คืออำนวยความสะดวกให้กับผู้กู้ยืมและผู้ให้กู้ เปรียบเสมือนตัวกลาง ซึ่งสกุลเงินธนาคารกลาง (CBDC) สามารถทำหน้าที่ตรงนี้แทนได้
ผู้บริโภคก็จะประสบปัญหาคือจะเริ่มเลือกไม่ถูกว่าควรจะฝากเงินกับธนาคารกลางหรือธนาคารพาณิชย์ แต่ด้วยความที่ธนาคารกลางจะมีความเสถียรและมั่นคงมากกว่าธนาคารพาณิชย์ ผู้บริโภคก็อาจจะแห่กันไปเปิดบัญชีกับธนาคารกลางซึ่งจะทำให้อำนาจการฝากเงินถูกผูกขาดไว้ที่ธนาคารกลางแต่เพียงผู้เดียว
เครือข่ายที่ใช้ร่วมกันได้
อย่างไรก็ตามแม้จะรายงานออกมาว่าสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอาจเข้ามาลดบทบาทของธนาคารพาณิชย์ลงไป ซึ่งหากลองมองอีกแง่มุมหนึ่งก็ไม่อาจจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะมันสามารถเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมโครงการและสามารถนำมาใช้โอนเงินระหว่างกันรวมถึงสามารถนำไปใช้กับการโอนเงินระหว่างประเทศที่ใช้ต้นทุนต่ำ มีความรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม