รู้จักศัพท์ประจำวงการ: “Centralization“ การรวมศูนย์นั้นแย่จริงหรือ
ทำความรู้จักกับหนึ่งในคำศัพท์สำคัญประจำวงการคริปโตอย่าง Centralization เจ้าปัญหา ต้นเหตุการสร้าง Blockchain
ทำความรู้จักกับหนึ่งในคำศัพท์สำคัญประจำวงการคริปโตอย่าง Centralization เจ้าปัญหา ต้นเหตุการสร้าง Blockchain
Centralization และ Decentralization
การพูดคุยซึ่งเกิดขึ้นในวงการคริปโตนั้น มักจะได้ยินคำศัพท์สำคัญอย่าง Centralization และ Decentralization เกี่ยวข้องด้วยเสมอ ๆ โดยคำศัพท์ทั้งสองคำนี้เป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน โดย Centralization นั้นเป็นคำซึ่งใช้อธิบายรูปแบบการดำเนินการใดๆซึ่งมีที่มาหรือแหล่งกำเนิดจากจุดเดียวกันในการกำหนดทิศทาง (Mandate) ของระบบนั้น ๆ ในทางกลับกัน Decentralized นั้นใช้อธิบายถึงระบบซึ่งสามารถดำเนินไปโดยไม่ต้องอาศัยการกำหนดจากจุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียวนั่นเอง
เมื่อศัพท์ดังกล่าวนั้นได้มีการนำมาใช้ในวงการคริปโตแล้ว มักจะเป็นการนำมาใช้เพื่อพูดถึงระบบการบริหารจัดการข้อมูลและการควบคุมการดำเนินการบนเครือข่ายทั้งแบบปิด (Local หรือ Testnet) และแบบเปิด (Mainet) โดยที่มักจะมีการนำไปเปรียบเทียบระหว่างระบบ Blockchain ซึ่งเป็นแบบ Decentralized กับระบบเครือข่ายและการบริหารข้อมูลแบบที่ใช้กันอยู่เดิมซึ่งเป็นแบบ Centralized นั่นเอง ซึ่งในอดีตนั้นการทำระบบใดๆให้เป็นแบบ Decentralized นั้นเป็นไปได้ยากมากเนื่องจากขาดเครื่องมือในการเชื่อมต่อข้อมูลให้เหมือนกันทั้งเครือข่ายอย่างเช่น Blockchain นั่นเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบ centralization
เมื่อมองภาพกลับไปในอดีต หรือแม้แต่ในปัจจุบันนั้นจะพบว่าการดำเนินการต่าง ๆ รอบตัวเราล้วนเป็นการดำเนินการแบบ Centralized ทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าองค์กรต่าง ๆ นั้นเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการดูแลรักษา บริหารจัดการ รวมไปถึงดำเนินการคัดกรองสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยองค์กรเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด คือตั้งแต่องค์กรรัฐฯ ธนาคาร ห้างร้าน ธุรกิจต่างๆ หรือแม้แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือบริษัท Exchange
เมื่อองค์กรหรือหน่วยงานใดๆเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการแล้ว การดำเนินการที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความระมัดระวังขององค์กรเองเท่านั้น อีกทั้งยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะดำเนินการไปตามความต้องการของผู้ที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งกรณีนั้นแสดงให้เห็นจากการโจรกรรมข้อมูลที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาครัฐฯจากการที่ข้อมูลถูกรวมไว้ที่เดียว การที่ Exchange ถูกขโมยเหรียญคริปโต หรือแม้แต่การที่องค์กรหรือแพลตฟอร์มสามารถที่จะเลือกปฎิบัติกับผู้ใช้งานหรืบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เพียงเพราะเป็นคำสั่งจากส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ปัญหาส่วนหนึ่งของระบบแบบ Centralized เท่านั้น
การเข้ามาแก้ปัญหาเดิม ๆ ด้วยระบบแบบ Decentralized
Decentralization นั้น แม้ว่าจะเริ่มมีการใช้งานจริงได้เพียงไม่กี่ปีและมีการนำไปใช้ในวงที่จำกัด เช่น วงการเทคโนโลยีและการเงินการธนาคาร แต่การริเริ่มที่เกิดขึ้นนั้นได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเสมอภาคที่มาพร้อมกับระบบดังกล่าว ตั้งแต่ความปลอดภัยและความเชื่อมโยงของข้อมูล ไปจนถึงความยุติธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้งานและผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบโดยไม่มีการเลือกปฏิบัตินั่นเอง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น แพลตฟอร์ม Exchange แบบ Decentralized หรือที่เรียกว่า DEX อย่าง Uniswap นั้นให้ประโยชน์แก่นักลงทุนในแง่ของค่าธรรมเนียมและมีความปลอดภัยที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มแบบ Centralized เช่น Binance เป็นต้น