การชำระเงิน

ธปท. ประกาศความคืบหน้าล่าสุดโปรเจคสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) ไทย

Bot 1.jpg

ธปท. ประกาศความคืบหน้าโครงการอินทนนท์หลังเปิดรับฟังความเห็น ปชช. เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC พร้อมชี้แจงจะทดสอบใช้ Retail CBDC เพื่อซื้อขายสินค้าบริการช่วงไตรมาส 2 ปี 2565

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศสรุปผลการศึกษาและสรุปความคิดเห็นของประชาชนในการทดสอบใช้ Retail CBDC แล้วหลังจากได้ศึกษาและวิจัยการใช้ Retail CBDC และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

Retail CBDC คืออะไร?

ในวันนี้ทั่วทุกมุมโลกต่างมีการทดสอบและใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางหรือเราจะเห็นคุ้นตาอยู่เสมอคือคำว่า Central Bank Digital Currency หรือ CBDC เป็นการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล คล้ายคลึงกับหลักการของเหรียญคริปโต stablecoin 

CBDC นี้จะมีความแตกต่างกับ stablecoin กันตรงที่ว่ารัฐบาลหรือธนาคารกลางจะเป็นผู้ดูแลและออก CBDC โดยตรง ในขณะที่ stablecoin นั้นจะเป็นการสร้างหรือออกเหรียญโดยภาคเอกชน

หากใครได้ติดตามข่าวสารของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลอยู่ตลอด ๆ จะรู้ว่า ธปท. เองนั้นก็ยังคงศึกษาและทดสอบการใช้งาน CBDC อยู่ตลอด ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า ‘อินทนนท์’  โดย Retail CBDC นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการอินทนนท์ ซึ่ง Retail CBDC ก็คือการศึกษาและทดสอบการใช้งาน CBDC ในภาคประชาชนนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ทาง ธปท. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ได้ประกาศว่า ธปท. นั้นกำลังทดสอบการใช้งาน Retail CBDC อยู่ เป็นการทดสอบใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในภาคประชาชนให้ทดสอบใช้งาน CBDC ได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นและได้ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วย

แนวทางการพัฒนาโครงการ CBDC ของไทย จาก ธปท.

สรุปผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินของไทย

ล่าสุด ธปท. ได้ประกาศความเคลื่อนไหวผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. ฉบับที่ 60/2564 เรื่อง สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. (Retail CBDC): การศึกษาผลกระทบต่อภาคการเงินไทย เเละผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนโดย ธปท. ชี้แจงว่าการพัฒนา Retail CBDC  นั้นจะต้องไม่สร้าง “ผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย”

นอกจากนี้ Retail CBDC นั้นจะมีลักษณะสำคัญคือ (1) รูปแบบคล้ายเงินสดและไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย (2) ต้องมีตัวกลาง เช่น สถาบันการเงินในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ (3) มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมาก ๆ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ธปท. ยังประเมินว่าประชาชนจะต้องการใช้ Retail CBDC เพิ่มมากขึ้นและอาจถูกนำมาใช้แทนเงินสดและ e-money ในอนาคตด้วย

ความคิดเห็นของประชาชน

โดยภาพรวมแล้ว ธปท. ได้ชี้แจงว่าประชาชนนั้นเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC แต่ก็ต้องมีการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในการใช้งาน Retail CBDC  ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของความแตกต่างว่ามันจะต่างจากแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร

แผนการทดสอบ Retail CBDC  ในระยะต่อไป

นอกจากนี้​ ธปท. ยังได้ชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนา Retail CBDC  ต่อไปด้วย โดยเผยว่าจะมีการทดสอบใช้ Retail CBDC  ในการรับแลกหรือใช้ชำระสินค้าและบริการ คาดว่าจะทดสอบในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และจะทดสอบให้นำ Retail CBDC ไปต่อยอดในด้านอื่น ๆ ซึ่งจะให้ภาคเอกชนและพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย

ติดตาม CryptoSiam
เพื่อให้ไม่พลาด ทุกข่าวสาร วงการคริปโต
ข่าวต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง