Huawei จับมือรัฐบาลจีนพัฒนาระบบ Data Directory
Huawei และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งกรุงปักกิ่งร่วมมือกันพัฒนาระบบ Data Directory หรือผังรวมสถิติของประเทศที่มีพื้นฐานบน Blockchain
Huawei และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งกรุงปักกิ่งร่วมมือกันพัฒนาระบบ Data Directory หรือผังรวมสถิติของประเทศที่มีพื้นฐานบน Blockchain
บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง Huawei ได้ก้าวมาสร้างสิ่งใหม่ ๆ อีกครั้ง โดยในคราวนี้พวกเขาร่วมมือกับหน่วยงานรัฐสังกัดกรุงปักกิ่งในการสร้างระบบ Data Directory ที่ใช้ Blockchain ขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งจุดประสงค์ของระบบดังกล่าวมีไว้เพื่อลดขั้นตอนที่น่าปวดหัวของการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการทับซ้อนของข้อมูล หรือแม้แต่ข้อมูลที่ไม่ถูกอัปเดตให้เป็นปัจจุบันและทำให้สามารถทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเบื้องต้นก็คือการแชร์ข้อมูลไปยังส่วนต่าง ๆ อีกหลายภาคส่วนนั่นเอง
เมื่อภาครัฐไม่อยากเชื่องช้าอีกต่อไป
ระบบ Blockchain Directory นั้นมีจุดประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ที่ซึ่งประชาชนทั่ว ๆ ไปจำใจต้องเจอเมื่อมาดำเนินงานด้านเอกสารกับหน่วยงานทางราชการ ตัวอย่างเช่น การได้รับหนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐมักจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งยังยุ่งยากเพราะจะต้องมีการลงนามอนุมัติและตรวจสอบความถูกต้องผ่านหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย
เทศบาลนครแห่งกรุงปักกิ่งนึกถึงความท้าทายของการสร้างระบบดังกล่าวอยู่เสมอ และพวกเขานั้นเชื่อมั่นว่าเครือข่าย Cloud Blockchain ภายใต้การปฏิบัติการของบริษัท Huawei จะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดการกับขั้นตอนอันไม่จำเป็นของงานประจำวันทั้งหลายที่พวกเขาต้องเจอ ผ่านการแชร์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
ตามประกาศระบุว่า :
“HUAWEI CLOUD ไม่เพียงแต่จะเข้าช่วยกรุงปักกิ่งในการสร้างระบบ Blockchain Directory เท่านั้น แต่ยังเป็ยการเปิดตัวแนวทางการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดด้วย E-government Solution เพื่อช่วยยกระดับเครือข่ายภายนอกองค์กรของหน่วยงานส่วนปกครองแห่งกรุงปักกิ่ง ทั้งยังสนับสนุนช่วยเขตการปกครอง Yanqingในกรุงปักกิ่งสร้างแพลตฟอร์มจัดการการให้บริการในท้องที่แบบอัจฉริยะ (Intelligent Operations Center IOC) อีกด้วย”
แลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ Real-time
สิ่งที่หน่วยงานส่วนปกครองปักกิ่ง และ Huawei กำลังจะพัฒนา คือการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานราชการทั้งหมดภายในเมืองอย่างเป็นระเบียบ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั่วไปร่วมกับข้อมูลที่แตกต่างกันไปในส่วนอื่น ๆ เช่น กิจการพลเรือน และทะเบียนบ้านบนเครือข่าย
การนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้งานนั้นคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนการบูรณาการของระบบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี และหากการให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐได้รับการปรับปรุง มันก็จะส่งผลให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้
ก่อนหน้านี้ การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 วัน เนื่องจากต้องรอการชี้แจงข้อมูลหลาย ๆ มิติจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตามด้วยการปรับเปลี่ยนเครือข่ายให้มาอยู่ในรูปแบบ Blockchain พวกเขาเองก็คาดการณ์เอาไว้ว่าหากสามารถยกเครื่องระบบทั้งหมดได้เมื่อไหร่ นี่อาจจะทำให้การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์เสร็จสิ้นได้ภายในพริบตาเดียว และนี่จะเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจ รวมไปถึงภาพรวมของประเทศได้อย่างมหาศาล