Yat คืออะไร? ศัพท์ใหม่ที่ผู้ใช้งาน Web3 ควรรู้
มาทำความรู้จักกับคำศัพท์ใหม่บนโลก Web 3 และร่วมคลายความสงสัยว่า Yat คืออะไร? หากต้องการจะซื้อขายเทคโนโลยีชิ้นนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
มาทำความรู้จักกับคำศัพท์ใหม่บนโลก Web 3 และร่วมคลายความสงสัยว่า Yat คืออะไร? หากต้องการจะซื้อขายเทคโนโลยีชิ้นนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
หลาย ๆ คนอาจเริ่มเคยได้ยิน และเกิดความสงสัยว่า Yat คืออะไร? แน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่ตัวนี้อาจไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่ใช้บ่งบอกตัวตนบนโลกดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็น URL บอกที่อยู่ของ Wallet รวมไปถึงยังสร้างเป็น NFT ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจศัพท์ใหม่บนโลก Web3 ให้ดียิ่งขึ้น วันนี้ CryptoSiam จึงขออธิบายให้ผู้อ่านทุกคนได้เข้าใจถึงความหมาย และหน้าที่ที่แท้จริงของ Yat ว่าสามารถให้ประโยชน์อะไรกับเราได้บ้าง
Yat คืออะไร?
Yat เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 โดยบริษัทสตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแห่ง Nashville จากการนำ Emoji ตั้งแต่ 1 – 5 ตัวมารวมกันเพื่อสร้างภาพแอนิเมชันรูปใหม่ขึ้นมาผ่านการผสมผสาน Non-Fungible Token (NFT) และที่อยู่โดเมนเข้าด้วยกัน ซึ่งทางบริษัทเชื่อมั่นว่า Emoji ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นจะกลายเป็นเทคโนโลยีอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ทำหน้าที่แทน Username บน Web3 พร้อมการันตีด้วยยอดขายกว่า 160,000 ราย มูลค่ารวมกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จุดประสงค์ในการสร้าง Yat ขึ้นมานั้นก็เพื่อทำหน้าที่แทน Username และ URL ของเว็บไซต์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบเดิม รวมไปถึงการบ่งบอกที่อยู่ของกระเป๋าเงินดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทางบริษัทได้เขียนอธิบายไว้บนเซิร์ฟเวอร์ Discord ว่า
“Yat จะช่วยให้คุณนำ Emoji ไปใช้เป็นเครื่องหมายแทนตัวตนทั้งในรูปแบบสากล และบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ลองจิตนาการถึงรูป Emoji เป็นงูพ่นไฟ หรือหุ่นยนต์ผีสวมมงกุฎ แทนที่การใช้ Username อย่าง coffeequeen98 หรือ [email protected] ดูสิ เพียงแค่คุณได้เป็นเจ้าของ Yat คุณก็จะสามารถนำ Emoji รูปทะเล, ตรีศูล และต้นปาล์ม มาใช้แทนตัวตนของคุณได้ตลอดไป และมันจะมีแค่คุณเพียงคนเดียวในโลกที่ได้เป็นเจ้าของรูปภาพเหล่านี้ได้”
Yat สามารถแปลงเป็น NFT ได้
ผู้ที่เป็นเจ้าของ Yat มีสิทธิ์ที่จะเลือกแปลงรูป Emoji ของตนเองให้อยู่ในรูปของ NFT บนเครือข่าย Ethereum Blockchain ได้ โดยมีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2021 เป็นต้นมา แต่ทว่าการซื้อขาย Yat นั้นจะต่างออกไปจากการมินต์ NFT ตามปกติ
การจะเปลี่ยน Yat ให้กลายเป็น NFT ได้นั้น ผู้เป็นเจ้าของจะต้องดำเนินการติดตั้งเครื่องมือสร้างรูปภาพ (Visualizer Tool) สำหรับ Yat โดยเฉพาะเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวสั้น ๆ ให้กับ Emoji จากนั้นเครื่องมือดังกล่าวจะทำการแปลงภาพเหล่านั้นให้กลายเป็น NFT เพื่อนำไปซื้อขายบนแพลตฟอร์ม OpenSea ได้ทันที
ยิ่งภาพมีอีโมจิน้อย และน่าจดจำจะยิ่งทำให้ Yat ราคาสูง
การออกแบบคาแรกเตอร์ด้วย Emoji ตั้งแต่ 1 ถึง 5 ตัวนั้นมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 4 ดอลลาร์หสรัฐไปจนถึงราคาหลักแสนดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว โดยการบริการดังกล่าวจะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเพื่อแปลง Yat ให้กลายเป็น NFT อีกด้วย ซึ่งหากรูปภาพมีความสั้น และน่าจดจำอย่างมาก ก็จะยิ่งส่งผลให้การสร้าง Yat มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
จะเห็นได้จากผลงาน Yat ที่มีราคาแพงที่สุดในตลาดปัจจุบันนั้นเป็นเพียงรูปกุญแจสีทองเพียงรูปเดียว ซึ่งถูกปิดประมูลที่ราคา 425,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากงาน Yat Destiny ในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ปริมาณการซื้อขายของ Yat บนแพลตฟอร์ม OpenSea จะอยู่ที่ 410 ETH หรือ 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบันมีเซเลบริตี้ และนักลงทุนจำนวนมากที่ได้เป็นเจ้าของ Yat ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Paris Hilton ที่มาพร้อมกับรูปราชินี และมงกุฏมีประกาย, Lil Wayne กับรูปเอเลียน และโน้ตดนตรี รวมไปถึง Kesha กับสายรุ้ง, ยานอวกาศ และเอเลียน เป็นต้น
อุปสรรคที่อาจขวางทางการเติบโตของ Yat
อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์ดังกล่าวกลับต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เช่น การถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความยุ่งยากในการค้นหา Yat URL เนื่องจากการพิมพ์ลำดับ Emoji บนแป้นพิมพ์ที่อิงตามมาตรฐาน QWERTY หรือ แป้นพิมพ์ที่มี่ตัวอักษร Q, W, E, R, T, Y อยู่ทางด้านบนซ้ายมือนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเสมอไป
นอกจากนี้ Riccardo Spagnia ผู้ร่วมก่อตั้ง และอดีตซีอีโอแห่ง Yat ถูกทางการสหรัฐเข้าจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังแอฟริกาใต้ในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งคดีเหล่านี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย